การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย“ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (1)

01 มิ.ย. 2566 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2566 | 14:25 น.

การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย“ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3892

จีนพลิกนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” และเปิดประเทศนับแต่ต้นปีกระต่าย ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ขยายตัวแรงในอัตรา 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ก็ส่อเค้าว่า เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” โดยคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งใน “พระเอก” ที่ช่วยเสริมภาคการบริโภคภายในประเทศในปีนี้ ...

การผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และเงื่อนไขการเดินทางข้ามมณฑลละภูมิภาคของรัฐบาลจีนนับแต่ต้นปี 2023 ทำให้การท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ข้อมูลของสถาบันการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (China Tourism Academy) ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศทั่วจีนโดยรวมคาดว่าจะแตะ 4,550 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 80% ของปีก่อน 

ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศในปี 2023 อาจแตะ 4 ล้านล้านหยวน ขยายตัวราว 95% ของปีก่อน และอยู่ในระดับกว่า 70% ของปี 2019

มาถึงวันนี้ จีนได้ผ่านไป 2 เทศกาลหยุดยาวสำคัญ อันได้แก่ ตรุษจีน และ วันแรงงาน ปรากฏว่า “สัปดาห์ทอง” ที่คนจีนนิยมเดินทางไปเยี่ยมญาติและพักผ่อนหย่อนใจ มีกระแสตอบรับดีขึ้นโดยลำดับ จนหลายฝ่ายมองว่า “การฟื้นตัว” มาเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกด้วย

เงื่อนไขข้อจำกัดที่ได้รับ “การปลดล็อก” และความรู้สึกที่ชาวจีนส่วนใหญ่เคยเต็มไปด้วย “ความลังเลใจ” ในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้แปรเปลี่ยนเป็น “ความเชื่อมั่น” อย่างเห็นได้ชัดในช่วงหยุดยาววันแรงงานที่ผ่านมา

นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากใช้โอกาสอันดี ที่รัฐบาลจีนเปิดโอกาสให้สามารถเดินทางข้ามภูมิภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศกันอย่างเต็มที่ จากสถิติของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในจีนเพิ่มขึ้นถึงกว่า 119% ของปี 2019

ขณะเดียวกัน ในเชิงคุณภาพ รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศก็มีมูลค่าถึง 148,000 (หรือราว 21,400 เหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นราว 129% และอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100.7% ของปี 2019 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทาง “ฟื้นตัว” อย่างเห็นได้ชัด 

สถิติของกระทรวงคมนาคมจีนก็ยังระบุว่า การเดินทางของชาวจีนทางบก เรือ และ อากาศ ในช่วงเทศกาลเพิ่มขึ้นเกือบ 163% ของปี 2022 โดยจำแนกเป็นการเดินทางเฉลี่ยต่อวันตามรูปแบบการขนส่ง ดังนี้

-ทางรถไฟ 18.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 4.6 เท่าตัว 

-ทางถนน 32.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว 

-ทางน้ำ 1.4 ล้านคน ขยายตัวกว่าเท่าตัว 

-ทางอากาศราว 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว

                      การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย“ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (1)

นอกจากนี้ ข้อมูลจากหลายแหล่งก็ยังระบุว่า จำนวนเที่ยวบินและจำนวนรถยนต์บนทางด่วน ก็เพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าของปี 2019 
ประการสำคัญ แม้ว่าสายการบินภายในประเทศได้กลับมาให้บริการเต็มรูปแล้ว แต่อุปสงค์ใช้บริการด้านการบินในหัวเมืองหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น หังโจว และ เฉิงตู ก็ยังสูงกว่าจำนวนเที่ยวบินที่มีอยู่ 

และแม้ว่าราคาตั๋วเครื่องบินจะเพิ่มขึ้นเกือบ 40% แต่การมองหาตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าของปี 2019 ถึง 162% ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่ใช้ช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้นในยุคหลังโควิด

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Ctrip (ซีทริป) แสดงผลว่า คนจีนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าวเป็นระยะทาง “ไกลขึ้น” กว่าของปีก่อนราว 25% ซึ่งสะท้อนถึงอีกหนึ่งพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงไป 
เพราะก่อนหน้านี้ ชาวจีนต้องการลดความเสี่ยงจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะ จึงเลือกเดินทางท่องเที่ยวในระยะสั้นด้วยรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก 

แต่ด้วย “ความเบื่อ” กับพื้นที่แคบๆ ของที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน และอยากใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติกลางแจ้งมากขึ้น จึงนิยม “ตั้งแค้มป์” ในพื้นที่สาธารณะในย่านชุมชนเมืองกันในช่วงปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระยะทางเฉลี่ยของการเดินทางโดยเครื่องบินอยู่ที่ 1,638 กิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับระยะทางระหว่างเซี่ยงไฮ้ กับ โฮฮอต เมืองเอกของมองโกเลียใน เลยทีเดียว ระยะทางเฉลี่ยดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกับของปี 2019

ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่วิถีชาวจีนดูจะ “ขาดไม่ได้” ก็มีระยะทางเฉลี่ยต่อเที่ยวเกือบ 390 กิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับระยะทางจากเซี่ยงไฮ้ไปย่านเทือกเขาหวงซาน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โด่งดังของมณฑลอันฮุย 

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจีนก็นิยมขับรถยนต์ไปท่องเที่ยวในระยะทางการขับขี่ที่ยาวขึ้น โดยเลือกใช้เวลาพักผ่อนในพื้นที่ชนบทต่างเมืองกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนนโยบาย “การสร้างความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ชนบท” ของรัฐบาลจีนควบคู่ไปด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหยุดยาววันแรงงานในปีนี้ ธุรกิจบริการเช่ารถยนต์ในจีน “คึกคัก” เป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 574% ของปีก่อน และมากกว่า 3 เท่าของปี 2019 

ขณะที่ยอดการจองโรงแรมที่พักที่รองรับการเดินทาง “ระหว่างมณฑล” ในช่วงเวลาดังกล่าวก็คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของยอดการจองโรงแรมโดยรวม 

การขยายตัวของการเดินทางท่องเที่ยว ยังทำให้ยอดจำหน่ายบัตรผ่านประตู งานสันทนาการ และกิจกรรมพิเศษอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในหลายกรณีก็สูงกว่าระดับของปี 2019 เสียอีก 

หลังจากอัดอั้นมาหลายปี นักท่องเที่ยวชาวจีนเลือกเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนสถานที่ท่องเที่ยว “ยอดนิยม” อีกครั้งในช่วงหยุดยาววันแรงงานในปีนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านอาจได้เห็นคลิป “คลื่นมหาชน” ในสถานที่ท่องเที่ยวหลักมาแล้วบ้าง 

คราวหน้าเราจะไปคุยกันต่อว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศเปลี่ยนแปลงในด้านใดอีกบ้าง และการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนเป็นเช่นไร ...  


เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน