โลกเปลี่ยน “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ใน “ACMECS” ต้องรื้อใหม่

30 ม.ค. 2565 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2565 | 19:41 น.

ความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ประเทศอาเซียนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมีอยู่หลายกรอบได้แก่ APEC, ACMECS, ASEAN, BIMSTEC, GMS และ IMT-GT บทความนี้จะเน้นประเด็นอุตสาหกรรมชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ ACMECS

 

โลกเปลี่ยน “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ใน “ACMECS” ต้องรื้อใหม่

 

ด้วยเหตุผลที่ผมกำลังทำวิจัยให้กับ “กองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างต่างประเทศ” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “การพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ ACMCES” ซึ่ง “ACMECS” หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) ที่เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 (กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พฤษภาคม  2561)

 

ผมขอเรียกว่า “ความร่วมมือ 3 แม่น้ำ” โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อคือ อำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ความร่วมมือเกษตรและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

โลกเปลี่ยน “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ใน “ACMECS” ต้องรื้อใหม่

 

ตลอดระยะที่ ACMECS ก่อตั้งมา ภูมิภาคอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ  “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ภายใต้พื้นที่ติดกันกับลาว เมียนมาและกัมพูชา จะต้องปรับทิศทางการพัฒนาหรือ “รื้อถอนใหม่” โดยเหตุผล 5 ข้อคือ 1.การค้าของ CLMV เปลี่ยนไป ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  CLMV ค้าขายกับประเทศนอกอาเซียนที่ไปลงทุนในประเทศตนเองมากขึ้น ในขณะที่ค้าขายกับอาเซียนเก่าลดลง รวมไปถึงการค้ากับประเทศที่ให้สิทธิด้านพิเศษ “Everything But Arms : EBA” 2.ไทยเสียตำแหน่ง FDI  ก่อนปี 2015 ในเมียนมา ไทยเป็นนักลงทุนอันดับสองใกล้เคียงกับประเทศจีน FDI ของสิงคโปร์อยู่อันดับที่สี่ แต่ปี 2021 สิงคโปร์แซงหน้าทุกประเทศขึ้นเป็น “เบอร์หนึ่งในเมียนมา” ตามด้วยจีน ฮ่องกง เวียดนาม “ไทยตำแหน่งหล่นหายมาอยู่อันดับที่ห้า”

 

ใน สปป.ลาว เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไทยคือ นักลงทุนอันดับหนึ่งในลาว ในขณะที่จีนอยู่อันดับที่ 7 และเวียดนามยังไม่ติด 1 ใน 10 ของนักลงทุนต่างชาติในลาว แต่ปัจจุบันนักลงทุนอันดับหนึ่งคือ จีน เวียดนาม และไทย ส่วนในกัมพูชา ปี 2014 ไทยคือนักลงทุนอันดับที่ห้า และปี 2020 นักลงทุนอันดับหนึ่งคือ จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยไทยไม่ติด 1 ใน 5 ของนักลงทุนต่างชาติในกัมพูชา

 

โลกเปลี่ยน “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ใน “ACMECS” ต้องรื้อใหม่

 

 

3.ลงทุนอุตสาหกรรมเปลี่ยน ในเมียนมา ก่อนหน้านี้การลงทุนหลักเป็นพลังงานและน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมและภาคบริการมากขึ้น เช่น อาหาร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ในกัมพูชาก็เช่นกัน เดิมเน้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แต่ปัจจุบันการลงทุนในกัมพูชาเป็น เกษตรแปรรูป (เกษตรแปรรูป น้ำมันปาล์ม) รถยนต์และท่องเที่ยว และในลาว เดิมเป็นการลงทุนในพลังงานไฟฟ้า แต่ปัจจุบันเป็นภาคบริการมากขึ้นเช่นกัน และปรับเปลี่ยนป็น “อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป”

 

 4.ปัจจัย BRI ของจีน ที่เข้ามาใน CLMV ทั้งเม็ดเงิน รถไฟ และตลาดสินค้า ล้วนทำให้ CLMV เปลี่ยนไป ประเทศไทยมี “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” (Border Special Economic Zones: Border SEZs) ที่ติดกับเพื่อนบ้านเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาญจนบุรี นราธิวาส หนองคาย นครพนม ตราด สงขลา ตาก สระแก้ว และมุกดาหาร ที่เน้นใน 10 อุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ เกษตรประมง เซรามิค เสื้อผ้า เครื่องเรือน เครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ รถยนต์และชิ้นส่วน พลาสติกและยา และอีก 3 ธุรกิจบริการ เช่น โลจิสติกส์และที่สนับสนุน เมื่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่เปลี่ยนไป

 

ผมคิดว่า ไทยควรมาทบทวนอุตสาหกรรมชายแดนและรื้อนโยบายอุตสาหกรรมกันใหม่ ที่ทำให้ไทยสามารถร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ขั้นแรกต้องแบ่งอุตสาหกรรมเป็น 5 กลุ่มใหญ่ที่ไทยต้องตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ไทยวางตำแหน่งอุตสาหกรรมชายแดนให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน

 

1.อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องแต่งกายผลิตภัณฑ์กระดาษ เชื้อเพลิง เคมี ยาง พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์

 

2.อุตสาหกรรมที่เน้นทุน ซีเมนต์ แก้ว และกระเบื้อง โลหะ เครื่องจักรเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง ผลิตภัณฑ์จากไม้ และเฟอร์นิเจอร์ อัญมณี และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์

 

3.อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร

 

4.อุตสาหกรรมยุคโควิด อิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค อาหารสุขภาพ ถุงมือยางพาราและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ

 

5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาภาวะโลกร้อน โดยเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเราจะเน้นอุตสาหกรรมชายแดนใดเพื่อแสวงหาความร่วมมือใน ACMECS คือ 1.ระดับการพึ่งพาระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม CLMV มีมากน้อยแค่ไหน 2.ตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในกลุ่ม CLMV 3.ศักยภาพอุตสาหกรรม

 

โลกเปลี่ยน “อุตสาหกรรมชายแดนไทย” ใน “ACMECS” ต้องรื้อใหม่

 

ผมประเมินเบื้องต้นพบว่า อุตสาหกรรมชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงาน ทุน และโควิด เท่านั้น ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายและภาวะโลกร้อนต้องเป็นในแผนอีก 5 ปีข้างหน้า โดยฝั่งเมียนมาที่ร่วมมือกันเป็นอุตสาหกรรม อัญมณี สมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า อาหารทะเล ชิ้นส่วนรถยนต์ ปศุสัตว์ ผลไม้แปรรูป

 

ฝั่งลาวเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เกษตรแปรรูป สี แว่นตา ปศุสัตว์ และกัมพูชาเป็นปาล์มน้ำมัน เกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมชายแดนไทยไม่ควรอยู่เดี่ยวหรือแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ถ้าต้องแข่งขันหลายอุตสาหกรรมไทยจะแข่งและขายให้กับนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เพราะต้นทุนการผลิตเพื่อนบ้านถูกกว่า