net-zero

เบทาโกร ทุ่ม 291 ล้าน เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ตอบโจทย์ Net Zero

    เบทาโกร เดินหน้าสู่ Net Zero ทุ่มงบเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 3 ปี 291 ล้านบาท ปูพรมติดตั้งโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 19 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม100% ปี 73

บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ “BTG” บริษัทอาหารครบวงจรชั้นนำของไทย ดำเนินธุรกิจครบวงจรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และปลา และอาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง ส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และยังขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมา

บริษัทได้เดินหน้าสานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมได้แก่ 1. การให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 2. การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน 4.อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และ 5.การพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งเปิดตัวสัญลักษณ์ “Betagro Saijai” ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ผ่านการทำงานที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอกยํ้าจุดประสงค์ขององค์กรที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคนด้วยอาหารที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต และซัพพลายเชน บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG กล่าวว่า จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในขณะนี้ (Global Boiling) ทางบริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญที่จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศและองค์กร

เบทาโกร ทุ่ม 291 ล้าน เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ตอบโจทย์ Net Zero

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรงและทางอ้อมลงมากกว่า 20% ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2565 ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อนํ้าหนักผลิตภัณฑ์ลง 10% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบจากปีฐาน 2565 และมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

การขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ซึ่งสิ้นปี 2567 จะดำเนินการติดตั้งในสถานประกอบการทั่วประเทศราว 36 แห่ง

ทั้งในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) โซลาร์คาร์พอร์ต (Solar Carport) และ โซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop) ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 เมกะวัตต์ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 “ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ราว 38 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนได้ราว 10% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด”

สำหรับในปี 2568-2570 บริษัทมีแผนที่จะติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกราว 19 เมกะวัตต์ ใน 33 สถานประกอบการ ใช้เงินลงทุนราว 11 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 14,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหม้อไอนํ้า (Boiler) ในทุกสถานประกอบการ ให้มีความสามารถรองรับการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ได้ เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 3 สถานประกอบการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 36,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในช่วง 3 ปี (2568-2570) มีแผนที่จะขยายเพิ่มไปอีก 3 สถานประกอบการทั้งในธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจอาหาร คาดว่าจะสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 73,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยตั้งงบการลงทุนประมาณ 180 ล้านบาท

รวมถึงมีโครงการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดนํ้าเสีย (Biogas) เพื่อเพิ่มปริมาณการนำก๊าซชีวภาพกลับมาใช้ผลิตไฟฟ้า และ/หรือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรหม้อไอนํ้า (Boiler) ให้ได้มากที่สุด โดยในช่วง 3 ปี (2568-2570) มีแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพให้ได้สูงสุด โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 8,600 เมกะวัตต์-ชั่วโมง อย่างต่อเนื่องใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท สามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 3,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

“ที่ผ่านมามีการพัฒนากระบวนการผลิตไอนํ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหม้อไอนํ้า ด้วยเทคโนโลยีระบบควบคุม หม้อไอนํ้าอัจฉริยะ (Smart Boiler Monitoring System) ซึ่งเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ ที่ช่วยตรวจสอบ วิเคราะห์ และปรับค่าการทำงานของกระบวนการผลิตไอนํ้า ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถลดการสิ้นเปลืองของการใช้พลังงานลงได้กว่า 10 ล้านเมกะจูล คิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้กว่า 680 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งบริษัทมีแผนการขยายโครงการไปยังสถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป”

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) เบทาโกร มุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Packaging) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงลดการใช้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเบทาโกรมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากกว่า 97.5% จากเป้าหมาย 100% ในปี 2573 สามารถลดการใช้ทรัพยากรบรรจุภัณฑ์ลงได้กว่า 1,160 ตัน

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางตรง (ขอบเขต 1) และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (ขอบเขต 2) ลงกว่า 6% (เทียบจากปีฐาน 2565) หรือ 27,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และปัจจุบันสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 8.4% แล้ว ขณะที่ในปี 2566 สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานต่อนํ้าหนักผลิตภัณฑ์ลงได้ 4% (เทียบจากจากปีฐาน 2565)