นายจักรภพ จรัสศรี ที่ปรึกษา 10 สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท."หรือ AOT กล่าวในงานสัมมนา "Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปริมาณการใช้บริการสนามบินในเครือข่าย AOT มีเที่ยวบินขึ้นลงเฉลี่ย 4 เที่ยวต่อนาที ซึ่งหมายความว่า มีผู้โดยสารมากกว่า 500 คน เดินทางผ่านสนามบินของ ทอท. ในทุก ๆ นาที
โดยเฉพาะก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน AOT ทั่วประเทศสูงถึง 140 ล้านคนต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยโดยเฉลี่ยใช้บริการสนามบิน ทอท. ประมาณ 2 ครั้งต่อปี
อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานไทยเป็นประตูบานแรกของประเทศไทย เพราะสนามบินเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี การท่องเที่ยวก็นับว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ค้ำยันเศรษฐกิจของเราเอาไว้
AOT จึงให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และกำลังมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า “Net Zero” โดย Net Zero ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่ทุกคนต้องช่วยกัน
ปัญหาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสนามบินคือ "การใช้พลังงาน" เพราะสนามบินต้องใช้ไฟฟ้าเยอะมากในการทำความเย็น ทำความร้อน และระบบต่าง ๆ
ที่ผ่านมา AOT ได้ทำการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาหลายปี และพบว่าส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานโดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และในอนาคตอาจจะต้องมีการซื้อ คาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยส่วนที่ลดไม่ได้
อย่างไรก็ตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องที่ท้าทายและซับซ้อน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และอาจต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เช่น การดักจับคาร์บอน
ในขณะที่ทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศAOT เองก็มีมาตรการหลายอย่าง เช่น การสร้างเขื่อนดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ตอนนี้กำลังพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้รู้ว่าจะมีน้ำท่วมเมื่อไหร่ จะได้เตรียมรับมือได้ทัน
นอกจากนี้มีเรื่องของ Zero Waste หรือการลดขยะให้เป็นศูนย์ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะสนามบินมีการใช้หลอดไฟจำนวนมาก และมีร้านอาหารต่างๆ ที่ผลิตขยะเป็นจำนวนมาก ทาง AOT จึงมีแนวคิดว่าแทนที่จะซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา เราควรจะซื้อแสงสว่างแทน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดขยะจากหลอดไฟที่ใช้แล้ว และร้านอาหารก็ควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการขยะ เช่น ไม่ใช้ภาชนะโฟม หรือไม่ใช้หลอดไฟ
นายจักรภพ กล่าวว่า อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องของซิมการ์ดโทรศัพท์ ทาง AOT ก็ให้มีการติดตั้งจุดรับคืนซิมการ์ดที่หมดอายุในสนามบิน เพื่อป้องกันไม่ให้ซิมการ์ดเหล่านี้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนเรื่องของน้ำ AOT มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่รอบๆ สนามบิน จึงมีแนวคิดว่าจะนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป
อีกประเด็นที่สำคัญคือในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจของสนามบิน เช่น พฤติกรรมของผู้โดยสารโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก พวกเขาต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างและเฉพาะตัว ดังนั้น การออกแบบสนามบินในอนาคตจึงไม่ใช่แค่สร้างอาคารให้สวยงามอีกต่อไป แต่ต้องคิดถึงระบบทั้งหมด เช่น ระบบการเช็คอินอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารแต่ละกลุ่มให้มากที่สุด
"ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะเห็นสนามบินเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น เคาน์เตอร์เช็คอินมีน้อยลง การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ลดลง และมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบเอกสารมากขึ้นครับ"
นายจักรภพ กล่าวต่อว่า แนวคิดในการพัฒนาสนามบินให้ทันสมัยและยั่งยืน ไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบินอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบข้างมากขึ้น เช่น การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ การซื้อตั๋วที่สะดวกขึ้น และที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
แนวคิดของ AOT ที่มุ่งสู่ Green Airport มี 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. สนามบินมัลติโมเดิร์น: คือสนามบินที่เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างรถไฟ เรือ เพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น เช่น ที่ภูเก็ตก็จะมีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะต่างๆ ได้
2.การเชื่อมโยงระบบ: ไม่ใช่แค่การเดินทางทางกายภาพ แต่รวมถึงการซื้อตั๋ว การจองโรงแรม ต้องทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบเดียว
3. ความยั่งยืน: ไม่ใช่แค่การทำสนามบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ต้องคิดถึงชุมชนรอบข้างด้วย ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
4.ขนาดของสนามบิน: สนามบินขนาดใหญ่ไม่จำเป็นเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องเหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสะดวกสบายควบคู่กันไป
"สนามบินในอนาคตจะไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบิน แต่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว โดยต้องคำนึงถึงทั้งความสะดวกสบายของผู้ใช้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"นายจักรภพกล่าวพร้อมทิ้งท้ายพร้อมระบุว่า สนามบินในอนาคตจะเป็นเหมือน "ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่" ที่มีทุกอย่างให้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า หรือแม้แต่โรงแรม และยังเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้สะดวกสบายอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง