sustainability
795

ธ.ก.ส.จ่อขาย “คาร์บอนเครดิต” ส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้เกษตรกรเพิ่ม

    ธ.ก.ส.เดินหน้าธนาคารต้นไม้ สร้างรายได้ให้เกษตรกร หนุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” ศึกษาส่งออกต่างประเทศ จัดสินเชื่อสนับสนุนปลูกป่า

“ธนาคารต้นไม้” เป็นโครงการที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาส่งเสริมให้เกษตรกรอนุรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยการขาย “คาร์บอนเครดิต” โดย “นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเดินหน้าโครงการ และแผนการขายคาร์บอนเครดิตในระยะต่อไป

โดยนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ตระหนักถึงภาวะโลกร้อนมาอย่างยาวนาน และต้องการส่งเสริมเกษตรกรช่วยกันรักษาป่า เพราะมีหลายพื้นที่ที่เกษตรกรยังมีการถางป่า เพื่อมาทำเกษตรเชิงเดี่ยว ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่มีเกษตรกรทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพ ทำให้ผลผลิตน้อย ไม่มีความคุ้มค่าต่อการทำการเกษตร ฉะนั้น ธ.ก.ส.จึงได้จัดทำ “โครงการธนาคารต้นไม้” โดยเชิญชวนให้เกษตรปลูกต้นไม้ หรือรักษาต้นไม้ในเขตของตนเอง ตามหัวไร่ปลายนา ที่ดินเสื่อมสภาพ ไม่ได้ผลผลิตตามที่ควรก็ให้หันมาปลูกป่า

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.

สำหรับเงื่อนไขธนาคารต้นไม้นั้น ชุมชนเดียวกัน หรือชุมชนใกล้เคียง สามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างน้อย 10 คน โดยกำหนดให้เกษตรที่รวมกลุ่มต้องมีต้นไม้อย่างน้อยคนละ 12 ต้น ระยะแรกธ.ก.ส.ให้การช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการให้เงินบำรุงค่าต้นไม้ ปีแรก 3 บาท และปีต่อไปต้นละ 1 บาท ซึ่งช่วยเป็นกำลังใจให้กับเกษตรกรเล็กน้อย ทั้งนี้ จากการดำเนินการโครงการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันนี้ มีเกษตรกรที่เข้าร่วมธนาคารต้นไม้แล้ว 6,814 กลุ่มทั่วประเทศ มีเกษตรกรสมาชิก 124,000 ราย และส่งต้นไม้มาขึ้นทะเบียนกับธ.ก.ส. 12.5 ล้านต้น

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ธ.ก.ส. ยังได้นำร่องค้นหาธนาคารต้นไม้ที่มีศักยภาพ หรือธนาคารต้นไม้ที่มีชุมชนอยู่ใกล้ๆ กัน มีปริมาณป่า 300-500 ไร่ เพื่อเริ่มต้นซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยธนาคารได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. นำร่องซื้อขายคาร์บอนเครดิตธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการตรวจวัด อบก. ได้รับรองการดูดซับคาร์บอนของทั้ง 2 ชุมชนอยู่ที่ 400 ตันคาร์บอน ซึ่งธ.ก.ส.ก็รับซื้อคาร์บอนในราคานำตลาดที่ตันละ 3,000 บาท แล้วชุมชนก็ได้เงินประมาณ 1.2 ล้านบาท ถือเป็นการหารายได้เสริมให้กับเกษตรกรที่ปลูกป่า

“เมื่อเทียบกับการซื้อขายคาร์บอนในภาคเกษตร จากการเก็บข้อมูลสถิติขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่เคยขายมานั้น ราคารับซื้อขายต่ำสุดอยู่ที่ 55 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 2,000 บาท แต่ธ.ก.ส.ให้ราคาตันละ 3,000 บาท และขอแบ่งสัดส่วน 70 : 30 กับทางชุมชน โดย 70% ให้ชุมชนโดยตรง และอีก 30% เราจะนำมาเข้ากองทุนธนาคารต้นไม้ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ตรวจประเมินต้นไม้ต่อไป ซึ่งเฉลี่ยแล้วชุมชนยังมีรายได้ตันละ 2,100 บาท”

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้เดินหน้าโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตดังกล่าวต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารได้คัดเลือกกลุ่มธนาคารต้นไม้ที่มีศักยภาพมา 33 ชุมชน โดยได้ส่งรายชื่อไปที่ อบก. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารสิทธิ์ ซึ่งประเมินว่าช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.67 นี้ จะสามารถเดินหน้าออกตรวจประเมินต้นไม้ได้

และคาดว่าต้นไม้ในระยะเวลา 1 ปี จะได้ปริมาณคาร์บอนอยู่ที่ 6,000 ตันคาร์บอน มีต้นไม้ประมาณ 600,000-700,000 ต้น ขนาดพื้นที่ปลูกต้นไม้น่าจะเกิน 500 ไร่ ทั้งนี้ ต้นไม้โดยทั่วไป เฉลี่ย 1 ปี สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 950 กิโลกรัมคาร์บอน

ขณะที่จำนวนการซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนจำนวน 400 ตันคาร์บอนดังกล่าวนั้น ธ.ก.ส.จะนำมาเคลมคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของธนาคารเอง เนื่องจากธนาคารเองก็ปล่อยของเสียออกไปปีละหลายหมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม ก็มีภาคเอกชนที่สนใจขอซื้อคาร์บอนเครดิตจากธนาคารต้นไม้ ที่ธ.ก.ส.รับซื้อมา แต่ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีนโยบายขายต่อ แต่ในอนาคตเราจะช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการขายต่อ โดยใช้มาตรฐาน T-VER ซึ่งเป็นการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกในประเทศ และอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะมีการขายคาร์บอนเครดิตส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย

“ตอนนี้เรากำลังศึกษาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งออกไปที่ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐานการขายคาร์บอนเครดิตให้กับต่างประเทศได้ เช่น ญี่ปุ่น เราได้ไปคุยกับธนาคารเกษตรของเขาไว้ว่า ให้เชื่อมส่วนนี้เข้าไปด้วย และเขาก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่จะต้องทำตามมาตรฐานที่เขารับรองด้วย”

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ได้สร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร และชนบทในการปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารจะรับต้นไม้เป็นหลักประกันสำหรับการขอสินเชื่อจากธ.ก.ส.ด้วย โดยได้มีการประกาศประเภทต้นไม้กว่า 100 ชนิด ที่สามารถรองรับเป็นหลักประกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันอยู่ที่ประมาณต้นละ 10,000-20,000 บาท และธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปแล้วประมาณ 10 ล้านบาท

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.ยังมีโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับเกษตรกรที่กู้เงินไปปลูกต้นไม้ ปลูกป่าเศรษฐกิจ ธนาคารให้กู้ได้นานสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ไม่ได้จำกัดวงเงินกู้

  • ระยะเวลา 1-5 ปีแรก ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 4%ต่อปี ลดต้นและดอกเบี้ย
  • ส่วนปีที่ 6-10 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2%
  • และปีที่ 11 ขึ้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -1%
  • จากปัจจุบันเรทอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.975%

ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้ามาขอใช้สินเชื่อแล้ว 320 ล้านบาท โดยปัจจุบันเกษตรกรยังปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่ แต่มีการแบ่งปันพื้นที่เพื่อมาปลูกป่าด้วย

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังมีเป้าหมายอีก 5 ปีข้างหน้า โดยต้องการผลักดันคาร์บอนเครดิตในภาค “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” รวมทั้งขยายไปสู่การปลูกป่าภาคเกษตร เช่น การปลูกยางพารา ซึ่งสามารถคำนวณการปล่อยคาร์บอนได้ เปลี่ยนอากาศให้เป้นเงิน ช่วยเหลือเกษตรกร

โดยวางเป้าหมายว่าช่วงปี 2571-2572 จะมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน และหลังจากเกษตรกรเห็นชุมชนมีรายได้จากธนาคารต้นไม้แล้ว คาดว่าเกษตรกรจะมีการรวมกลุ่ม และขยายธนาคารต้นไม้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งกลุ่มเริ่มปลูกต้นไม้ใหม่ และการอนุรักษ์ป่าได้

“ส่วนที่เราเริ่มต้นตรงนี้ เชื่อว่าทางภาคเกษตรหลายคนเห็นประโยชน์แล้ว และส่วนภาคธุรกิจก็เริ่มมองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงนามความร่วมมือความเป็นกลางทางคาร์บอนกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26  รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกลางปีนี้น่าจะมีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา เมื่อทิศทางมีความชัดเจนแล้ว เชื่อว่าคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยจะมีราคากลางที่ดี และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย"