รู้จัก “สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์” กับบทบาท CFO ในบริษัท BTSก่อนสู่เส้นทางการเมือง

15 ก.ย. 2566 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 21:30 น.
644

รู้จัก“สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์” ก่อนสู่เส้นทางการเมืองกับ บทบาท CFO ในบริษัท BTS เผยทำงานวงการการเงิน 13 ปี ลุยใช้ความรู้ Finance จัดการเงินทุน-วิเคราะห์ประเด็น แนะห้ามข้ามเส้นจริยธรรม หวั่นส่อทุจริต

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ (พี่อ้น) บทบาทของ CFO ในบริษัท BTS ตำแหน่งที่เด็กการเงินใฝ่ฝัน กล่าวว่า พี่อ้นเข้าศึกษาในภาควิชาการบัญชี สาขาบัญชีต้นทุน ขณะเรียนอยู่ปี 4 ได้ทำกิจกรรมของคณะในฐานะนายกสโมสรนิสิต เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เริ่มทำงานกับสำนักงานสอบบัญชี Ernst and Young เป็นเวลา 2 ปีกว่า หลังจากนั้นได้ทุนฯจากธนาคารกรุงเทพไปเรียนต่อที่ University of Michigan ann arbor, USA

 

เมื่อเรียนจบแล้ว พี่อ้นกลับมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพเป็นเวลา 13 ปี ได้ทำงานหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับการเงิน การวางกลยุทธ์ต่างๆมากมาย จนปัจจุบันได้ตัดสินใจย้ายมาดำรงตำแหน่งเป็น CFO ของบริษัท BTS Group Holdings Public Company Limited
 

บทบาทของ CFO ในบริษัท เป็นอย่างไร

ที่จริงงานของ CFO มีหลากหลาย แล้วแต่ว่าเจ้าของกิจการหรือ CEO ของบริษัทนั้นๆอยากให้ทำอะไร แต่ ที่แน่ๆเลยจะต้องดูงบการเงินให้เป็นว่าทำตามมาตรฐานการบัญชีถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งวิเคราะห์ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นผู้ที่มาทำหน้าที่นี้จะต้องมีความรู้ทั้ง Financial Accounting (บัญชีการเงินที่เสนอต่อบุคคลภายนอก) และ Managerial Account (บัญชีบริหาร ที่ใช้ภายในบริษัท) อีกทั้งจะต้องมีความรู้ด้าน Finance เพื่อใช้ในการจัดการเงินทุนในการขยายธุรกิจหรือวิเคราะห์เพื่อเลือกวิธีการ จัดหาเงิน เป็นต้น

 

ลักษณะการทำงานของสายงานนี้จะต้องเน้นความรู้ทั้งบัญชีและการเงินควบคู่ไปด้วย หาก ใครเรียนบัญชีมาก็จะต้องหาความรู้ด้านการเงินเพิ่ม ส่วนใครเรียนการเงินมาก็จะต้องมีความรู้เรื่องบัญชีด้วย เพราะทั้งสองอย่างนี้จะต้องถูกนำมาใช้ควบคู่กัน
 

สิ่งที่อยากฝากน้องๆรุ่นปัจจุบันและที่เพิ่งจบไป

 

จากการสัมภาษณ์ พี่อ้นได้สอนหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขยันซึ่งเด็กปัจจุบันยังขาดอยู่มาก นอกจากนี้ ในการทำงานต้องมี Integrity หรือจริยธรรมในการทำงานด้วย อย่าไปคดโกง หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งเหล่านั้นจะติดตัวเราไปตลอดชีวิต

 

ความคิดที่จะทำการทุจริตเหมือนข้ามเส้นๆหนึ่งที่เรียกว่า “เส้นจริยธรรม” แรกๆเส้นจริยธรรมนี้ยังคงหนาอยู่ทำให้เรารู้สึกลำบากใจในการทำทุจริต แต่เมื่อเราข้ามไปทำทุจริตแล้วไม่ถูกจับได้ก็จะเริ่มทำทุจริตบ่อยขึ้น เส้นจริยธรรมนี้ก็จะเริ่มจางและหายไปในที่สุด จนทำทุจริตได้อย่างไม่ลำบากใจ และหากโดนจับได้ขึ้นมาก็จะหมดโอกาสในอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นจะต้องไม่ข้ามเส้นจริยธรรมนี้ไปเพื่อทำการทุจริตตั้งแต่แรกเลยเลยจะ ดีที่สุด

 

พี่อ้น
…..แล้ววันนี้น้องๆอยากให้คนอื่นตีค่าน้องแบบไหน มีแต่ตัวน้องๆเองที่เป็นคนตัดสินใจได้……