เปิดใจทายาทคาราบาวแดง “วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ภารกิจปั้นค้าปลีกแสนล้าน

02 ส.ค. 2566 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 17:31 น.
1.8 k

“หาก 100 โปรเจ็กต์ที่คิดแล้วล้มเหลว แต่มี 10 โปรเจ็กต์ที่สำเร็จ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และจะกลายมาเป็น New Business ของเรา” วีรธรรม เสถียรธรรมะ

“วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ทายาทคนโตของตระกูลเสถียรธรรมะ ถูกวางตัวให้คุมบังเหียนธุรกิจค้าปลีกต่อจาก “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อคาราบาวแดง” ผู้เป็นพ่อ ซึ่งรับไม้ต่อเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด เมื่อปลายปี 2565 พร้อมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ คือการขับเคลื่อน “ซีเจ มอร์” ฝ่าสมรภูมิค้าปลีกอันดุเดือด เพื่อพิชิตเป้าหมาย “1 แสนล้านบาท” ภายในปี 2573

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสเปิดใจ “คุณวี - วีรธรรม” หนึ่งใน CEO คนรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่หลายคนจับตามอง

“คุณวี” เล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซีเจฯ เป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย

วีรธรรม เสถียรธรรมะ

แม้จะเป็น “ทายาท” แต่คุณวี ก็ต้องเริ่มต้นเช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ “ตำแหน่งแรกที่ทำในซีเจฯ คือ ผู้อำนวยการฝ่าย ดูแลเรื่องการซื้อของจากซัพพลายเออร์มาเติมที่คลังทำอยู่เกือบ 1 ปี ก่อนจะโยกมาดูเรื่องซัพพลายเชนอีกเกือบปี และโยกย้ายอีกครั้งมาดูแลด้านโอเปอเรชั่น เมื่อ 5 ปีก่อน ต่อมาก็ถูกมอบหมายให้ดูแลด้านคอมเมอร์เชียล จัดซื้อ พร้อมกับขยับขึ้นมาเป็น “ผู้อำนวยการอาวุโส” และก้าวขึ้นมาเป็น CEO ปลายปีก่อน”

“คุณวี” บอกว่า แต่ละตำแหน่งชาเลนจ์ไม่เหมือนกัน เช่น “โอเปอเรชั่น” เป็นการเรียนรู้ว่า จะทำงานกับคนจำนวนมากอย่างไร ถ้าเป็น “คอมเมอร์เชียล” จะเรียนรู้การเจรจาต่อรอง ขณะเดียวกันจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างไร คิดกลยุทธ์สินค้าอย่างไร “ซัพพลายเชน” จะเน้นเชิงกระบวนการ (Process) HR ก็เข้าไปดูแล้ว เหลือแค่บัญชี การเงิน (หัวเราะ)

“การที่ต้องเรียนรู้ทุกแผนก เพราะเป็นวิธีคิดของซีเจฯ เนื่องจากเราทำไม่เป็น เราสร้างทีมหนึ่งที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราต้องเข้าใจว่า งานที่เขาทำอยู่เป็นอย่างไร ที่ซีเจฯ ผู้บริหารทุกคนจะต้องเรียนรู้และพร้อมที่จะโยกย้ายงานตลอดเวลา”

การทำงานของ “คุณวี” ไม่ได้เดินหน้าคนเดียว แต่มีทีมงานอีกนับร้อย รวมถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งวันนี้มีมากถึง 90% ที่กลายเป็น “ทีม” สำคัญที่จะมาขับเคลื่อนซีเจฯ ไปข้างหน้าพร้อมกับการสร้างแบรนดิ้ง ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“เราคัดกรองคนรุ่นใหม่ดูจาก “ต้องมีความรับผิดชอบ” เรายอมรับคนจากสายงานที่หลากหลาย ที่นี่จึงมีทั้งผู้ที่เคยเป็นเจ้าของปั้มน้ำมัน สายนักบิน ขุดเจาะน้ำมัน บัญชี คนขายประกัน เซลรถยนต์ รวมถึงซิลิคอนวัลเล่ย์ ก็มี แต่ขั้นแรกเราคัดกรองจากคนที่มี “ความรับผิดชอบ” ก่อน เพราะเราคิดว่าคนที่รับผิดชอบจะพัฒนาตัวเอง

เปิดใจทายาทคาราบาวแดง “วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ภารกิจปั้นค้าปลีกแสนล้าน

ขณะเดียวกันเราก็มีวัฒนธรรม ที่ไม่ได้เอาเราเป็นใหญ่ ผมไม่ได้บอกว่า เราจะเป็นอย่างไร แต่บอกว่าเป้าหมายของเราคืออะไร เขาก็มีอิสระในการคิด เพราะเรามองว่า จริงๆ แล้วเด็กๆ เข้าใจในสังคมคนรุ่นใหม่ แทนที่จะให้คนสูงวัยคิด ก็ให้เด็กๆ คิด เหมือนแคมเปญ 18 ปี ซึ่งก็ไม่ได้เริ่มจากผม

แต่เด็กๆเขาบอกว่า การตอบแทนคืนสังคม เป็นสิ่งที่เขาอยากจะทำ จึงกลายเป็นแคมเปญ “เฉลิมฉลอง 18 ปี ซีเจ มอร์ ขอบคุณที่อยู่เคียงคู่กัน”เพื่อฉลองครบรอบ 18 ปีและเป็นครั้งแรกที่ซีเจฯ ดึงศิลปินคนรุ่นใหม่ 2 คู่จิ้น อย่าง “เฟิร์ส-ข้าวตัง” และ “ฟรีน-เบ็คกี้” ร่วมกิจกรรม พร้อมการคืนกำไรให้ผู้บริโภคและสังคม

องค์กรเรา เป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย และเราก็อยากบอกออกไปให้สังคมรับรู้ด้วย ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่ก็พร้อมที่จะเรียนรู้

“ทายาทคาราบาวแดง” เปิดแผนลงทุน “CJ MORE” ทุ่ม 4 พันล้านขยาย 250 สาขา

วันนี้ “คุณวี” เหมือนเป็นมือประสานบาลานซ์ระหว่างคนทำงานรุ่นเก๋า กับรุ่นใหม่ ซึ่ง “คุณวี” บอกว่า แนวคิดการสร้างคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องที่ซีเจฯ ทำมานาน การเปิดรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีกรอบจำกัด เช่นเดียวกับมอตโต้ของ “ซีเจฯ” คือ “มากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต” ทำให้เราออกนอกกรอบ จะนำเสนออะไรให้กับลูกค้าและชุมชนที่กว้างกว่าเดิม

เปิดใจทายาทคาราบาวแดง “วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ภารกิจปั้นค้าปลีกแสนล้าน

เรามีพื้นที่เหมือน playground ให้อิสระคนรุ่นใหม่ได้คิด ด้วยหลักคิดของคุณพ่อที่ดี พอเราไปปรึกษา แกก็จะให้ไดเร็คชันว่า อันนี้เดินต่อได้ อันนี้กลับไปดู ในทีมเรา บริษัทเรา มีการบาลานซ์เรื่องประสบการณ์ เอาวิสัยทัศน์ของคุณพ่อและผู้บริหาร มาเบลนได้ คำว่า “มากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต” ณวันนี้คือ สิ้นสุดแล้ว มันเหมือนเข็มมุ่ง เหมือนเป็นมอตโต้ เพราะค้าปลีกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นเราต้องไม่จำกัดตัวเองเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ต” คุณพ่อให้ไดเร็คชันนี้มา ทำให้เราเชื่อว่า เราแตกต่าง ไม่ใช่การเน้นขายสินค้าแบบซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นปลายทาง เรามองว่าการที่เราเปิดในชุมชน ขอเพียงชุมชนมี Need เราก็มองเป็น “โอกาส” เรามีแนวคิดตลอดเวลา หาก 100 โปรเจ็กต์ที่คิดแล้วล้มเหลว (failed) แต่สำเร็จ 10 โปรเจ็กต์เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และจะกลายมาเป็น New Business เช่น บาว คาเฟ่ (Bao Cafe/) ในทุกวันนี้”

เปิดใจทายาทคาราบาวแดง “วีรธรรม เสถียรธรรมะ” ภารกิจปั้นค้าปลีกแสนล้าน

“คุณวี” บอกว่า วันนี้เรามี Pilot Project อยู่มากกว่า 20 โปรเจ็กต์ ที่กำลังจะเห็นในเร็วๆ นี้คือ “ซีเจ มอร์” โฉมใหม่ที่ไซส์ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็เป็นไอเดียจากทีมงานคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุณวี บอกว่าขอเวลาทดลองศึกษาและพัฒนาอีกเล็กน้อย ก่อนจะเผยโฉมอย่างเป็นทางการ

และแม้จะเดินหน้าเฟ้นหาโมเดลใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ “คุณวี” บอกว่า การแข่งขันในตลาดทำให้ต้องไม่หยุดนิ่ง ปีนี้จึงยังเห็นซีเจฯ เดินหน้าลงทุนด้วยงบกว่า 3,000 ล้านบาทในการขยายสาขาใหม่ทั้งซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีเจ มอร์ รวมถึงลงทุนหลังบ้านเพื่อจัดวางระบบ และสร้างขุมกำลัง (ศูนย์กระจายสินค้า) ที่จ. ขอนแก่นมูลค่าอีกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นฐานรองรับการขยายสาขาในภาคอีสาน

แม้เชื่อว่า ปีนี้ซีเจฯ จะทำยอดขายได้ 4 หมื่นล้านบาทจาก 1,100 สาขา แต่ “เป้าหมาย” ที่สำคัญ คือ ยอดขาย 1 แสนล้านบาท จาก 3,000 สาขาภายในปี 2573 พร้อมกับ “ผงาด” เป็นองค์กรค้าปลีกไทยที่ยืนได้อย่างสง่างามในตลาด

ถือเป็น “Big Challenge” ที่พิสูจน์ฝีมือ CEO หนุ่มรุ่นใหม่ ไฟแรงคนนี้ไม่น้อย

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566