นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทบทวนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรการกรณีที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ควบคุมผู้ส่งออก 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้
รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสินค้าพื้นฐานเหล่านี้ เช่น ช็อคโกแลต เฟอร์นิเจอร์ไม้ ยางรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ โดยจะเร่งดำเนินการผลักดันให้ EU ยอมรับสินค้าไทยที่มาจากแหล่งผลิตที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าว่า สินค้าไทยเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ด้วย
"การดำเนินการดังกล่าวมาจากการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับมาตรการของ EU ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า ต้องจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ค้าใน EU จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่สามารถให้ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด"
สำหรับข้อมูลสำคัญที่จะต้องเตรียม คือ รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต พิกัดภูมิศาสตร์ของที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้เตรียมการรองรับกับมาตรการดังกล่าว โดยใช้กลไกในการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มตช.14061-2566 ที่ สมอ.ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว
ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การวางแผนการจัดการที่ดีภายในสวนป่า การปกป้องสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ความปลอดภัย และการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่า ผลผลิตที่มาจากสวนป่าที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มตช.14061-2566 นั้น เป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหภาพยุโรปในการนำเข้าสินค้าที่มาจากผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่ง สมอ.จะดำเนินการเจรจากับ EU ให้ยอมรับผลการตรวจสอบรับรองภายใต้การรับรองระบบงาน (accreditation) ของ สมอ. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแล้ว จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1.บริษัท แพลนเตชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ,2.สหกรณ์กองทุนสวนยาง คลองปาม จังหวัดตรัง ,3.บริษัท ฟิวเจอร์ รีซอร์ส เทคโนโลยี จำกัด ,4.การยางแห่งประเทศไทย สาขาเมืองสตูล ,5.บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด และ6.สหกรณ์กองทุนน้ำยางสดท่าแพ สตูล