เปิดพันธกิจ นายก TFPA คนใหม่ ชูนโยบายเชิงรุก “หาตลาดใหม่-พัฒนาสินค้าส่งออก”

06 มิ.ย. 2568 | 22:15 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2568 | 22:15 น.

เปิดพันธกิจ “ดร.องอาจ กิตติคุณชัย” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปคนใหม่ นำทัพผู้ประกอบการไทยกว่า 200 บริษัท ฝ่าสมรภูมิร้อน “ภาษีสหรัฐฯ-กำลังซื้อไทยซบเซา-ต้นทุนพุ่ง” จี้รัฐเร่งแก้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนเกษตรและอาหารไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าอาหารจากอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่ารวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.2 แสนล้านบาท ขยายตัว 4.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.7 แสนล้านบาท สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 2.อาหารสัตว์เลี้ยง 3.ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ 4.น้ำตาลทราย และ 5.ผลไม้กระป๋องและแปรรูป รวม 5 อันดับแรก คิดเป็นสัดส่วน 60.17% ของการส่งออกทั้งหมด

ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของวิจัยกรุงศรีที่เปิดเผยถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป (Ready Meals) ในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี โดยมีมูลค่าราว 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ปริมาณการบริโภครวมเติบโตเฉลี่ย 5.6% ต่อปี แบ่งเป็นจัดจำหน่ายในประเทศ 65.9% และส่งออกไปต่างประเทศ 34.1% ของปริมาณการจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปทั้งหมด

เปิดพันธกิจ นายก TFPA คนใหม่ ชูนโยบายเชิงรุก “หาตลาดใหม่-พัฒนาสินค้าส่งออก”

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.องอาจ กิตติคุณชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดได้รับเลือกตั้งให้เป็น “นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป” (Thai Food Processors’ Association : TFPA) คนใหม่ เข้ามาสานต่อพันธกิจของสมาคมท่ามกลางความร้อนระอุของสถานการณ์ในและต่างประเทศที่ยังคงผันผวน

“ดร.องอาจ” เล่าให้ฟังว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปของไทย ส่วนใหญ่ล้วนมาจากผลผลิตในภาคการเกษตร โดยมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกปี เพราะสินค้าเหล่านี้ล้วนจำเป็นสำหรับการบริโภค และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลของผู้ประกอบการสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปกว่า 200 บริษัท มีสินค้าโดยรวมในการผลิตมากที่สุด คือ ปลาทูน่า สับปะรด เครื่องปรุงอาหาร ผักผลไม้ และข้าวโพดหวาน ตามลำดับ ตลาดของกลุ่มสมาชิกส่วนใหญ่ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย กระจายไปหลายทวีปทั่วโลก

เปิดพันธกิจ นายก TFPA คนใหม่ ชูนโยบายเชิงรุก “หาตลาดใหม่-พัฒนาสินค้าส่งออก”

ในปี 2568 ประเมินจากช่วงไตรมาส 1 กำลังซื้อของตลาดอาหารทุกประเภทในประเทศไทยถือว่าเติบโตขึ้น สถานการณ์ฟื้นตัวดีมากกว่า 50% หลังจากเกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการเริ่มกลับมาตั้งหลักได้ นอกจากนี้การเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มอัตรายังเป็นปัจจัยสำคัญ มีส่วนผลักดันให้การบริโภคก็เริ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์การบริโภคและกำลังซื้อในต่างประเทศกลับปั่นป่วน กระทบต่อภาคการส่งออก

“ผลกระทบจากนโยบายด้านภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความผันผวน จนหลายคนตื่นตระหนก แย่งกันซื้อขายสินค้าสารพัด เกิดการกักตุนสินค้า ระบบการซื้อขายตลอดจนการส่งออกสินค้าเสียขบวน ภาษีของสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงมาก กระทบเศรษฐกิจและทุกอุตสาหกรรมของไทย แต่ในภาคอุตสาหกรรมอาหารถือว่ายังได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น”

ดร.องอาจ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศขนาดเล็กสำหรับสหรัฐอเมริกา การเจรจากของรัฐบาลในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก สิ่งที่ผู้ประกอบการในสมาคมกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้คือมองหาตลาดใหม่ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุด แม้ในอนาคตรัฐบาลไทยจะเจรจาสำเร็จสามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐได้เหมือนเดิม แต่ตลาดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจะเหมือนวัคซีนที่คอยป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ แม้กระทั่งลาตินอเมริกา

“เรื่องภาษีสหรัฐฯ เป็นเรื่องสำคัญมาก คนที่จะไปเจรจาตอนนี้คือรัฐบาลที่อยู่ในระบบราชการซึ่งยังไม่พอ ต้องมีทีมที่เก่งและมีความเชี่ยวชาญ เหมาะสมต่อสถานการณ์ สามารถวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ของประเทศได้ว่าอะไรที่เราควรได้ อะไรที่เราควรเสีย และบทสรุปต้องจบลงตรงที่ผู้ประกอบการไทยสามารถไปต่อได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ ส่วนตลาดใหม่ก็ต้องมองไปยังประเทศยังมีคนที่มีกำลังซื้อ เดินเข้าไปหาทำให้เขารู้จักเรามากขึ้น”

เปิดพันธกิจ นายก TFPA คนใหม่ ชูนโยบายเชิงรุก “หาตลาดใหม่-พัฒนาสินค้าส่งออก”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องแก้ปัญหาเรื่องสินค้าสำหรับการบริโภคที่เริ่มขาดการพัฒนา โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่ยังส่งสินค้าชนิดเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไปขาย ไม่มีสินค้าใหม่หรือปรับปรุงเพิ่มเติมตามยุคสมัย เช่น ขายข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รูปแบบการส่งออกยังคงบรรจุกระสอบ วัดน้ำหนักเป็นตัน ขายตามฤดูกาล โดยเป็นผลผลิตจากเกษตรกรที่นิยมปลูกช่วงกระแสดี ไม่แปรรูปหรือปลูกนอกฤดูกาล สุดท้ายเมื่อผลผลิตล้นตลาดก็ราคาตก เกิดปัญหาด้านราคาซ้ำซาก

เรื่องนี้ภาครัฐต้องมีวิธีบริหารจัดการแตกต่างจากวังวนเดิม เข้ามาสนับสนุนการตลาดแบบดีมานด์-ซัพพลาย ให้มากขึ้น ไม่ควรบริหารแบบประกันราคา-แจกเงิน เพราะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตไม่กระตือรือร้นในการแข่งขันและพัฒนาตัวเอง รัฐบาลต้องใช้ระบบบริหารเข้ามาสนับสนุนการทำงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยไปให้ไกลโดยไม่มีข้อจำกัด และไม่ควรใช้ระบบราชการมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพราะค่อนข้างมีความล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จะพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้มีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงสมาชิกของสมาคมทุกราย ผลักดันให้เกิดการเติบโตตามการขยายตัวของตลาด ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซึมซบเซาของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่เริ่มมีกำลังซื้อลดลง

เปิดพันธกิจ นายก TFPA คนใหม่ ชูนโยบายเชิงรุก “หาตลาดใหม่-พัฒนาสินค้าส่งออก”

รวมถึงพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสมาคมให้มากขึ้น เช่น หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอาหาร บริษัทโลจิสติกส์ กลุ่มพลังงาน เป็นต้น โดยจะขับเคลื่อนสมาคมด้วยนโยบายเชิงรุก ร่วมมือกับทุกภาคส่วนแบบการเป็นพาร์ทเนอร์ พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่จบให้สำเร็จลุล่วง อย่างกฎหมายด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน ของบริษัทรายเล็กซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมยังเสียเปรียบอยู่ให้ดีขึ้น

ดร.องอาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากคาดการณ์ของหลายภาคส่วนคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโตน้อยกว่า 3% การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในตอนนี้ก็ไม่มีแรงกระเพื่อมที่มากพอ แม้กระทั่งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ยังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ตลอดจนการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มลดลง

ดังนั้น ธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารที่ยังสามารถสร้างผลตอบรับผ่านทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ได้เกินกว่า 50% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้