นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของประเทศจีนที่ลดความสำคัญของภาษาอังกฤษ ประกอบกับค่าใช้จ่ายการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครองชาวจีนเริ่มหันหน้ามองหาตัวเลือกทางการศึกษาในต่างประเทศให้กับบุตรหลาน
ด้วยศักยภาพโรงเรียนนานาชาติของไทยที่ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมามีชาวจีนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และมีนักเรียนจีนที่ย้ายเข้ามาศึกษาในโรงดรียนนานาชาติในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่เห็นหัวเมืองและแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ
มองว่าการไหลเข้ามาศึกษาต่อของชาวจีน ทั้งในระดับปฐม มัธยม และอุดมศึกษา ทำให้ในระยะสั้นและกลางจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยไทยและจีนมีข้อตกลงทางการค้าอยู่หลายฉบับ การที่เด็กๆ ย้ายเข้ามาศึกษาในไทย มีความรู้ความเข้าใจในด้านภาษาไทย วัฒนธรรม และกฎระเบียบต่างๆ
ความรู้ความเข้าใจเป้นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นจุดเสี่ยงเช่นเดียวกัน นักเรียนที่มาโตในไทยค่อนข้างมีข้อได้เปรียบมากกว่านักเรียนไทยที่แลกเปลี่ยนไปเรียนยังประเทศจีน เพราะเด็กไทยที่จะไปทำการค้าขายในจีนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเบียดตัวเข้าไปยังตลาดจีนได้ แต่ในไทยไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม มองว่ากฎหมายไทยในเรื่องการค้ากับประเทศจีนยังมีจุดอ่อนอยู่ ดังนั้นแล้วภาครัฐควรพิจารณาและทบทวนระเบียบการค้าใหม่ เพื่ออุดช่องโหว่เหล่านี้ที่อาจทำให้การค้าไทยยิ่งทวีความเสียปรียบในอนาคต
"ส่วนตัวมองว่าผู้ปกครองจีนที่ย้ายบุตรหลานเข้ามาศึกษาในไทยค่อนข้างมีกำลังในการใช้จ่าย ดังนั้นแล้วจึงมองว่าในระยะสั้นถึงกลาง ประเทศไทยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการใช้จ่ายในการศึกษาการดำรงชีพ และการท่องเที่ยวของชาวจีนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในไทย แต่ในระยะยาวก็อาจเป็นความเสี่ยง เด็กๆ ชาวจีนที่โตในไทย มีความเข้าใจเศรษฐกิจและการค้า อาจมองเห็นช่องโหว่ทางการค้า ไทยอาจเสียเปรียบ"