สรรพากรชวนผู้ประกอบการเข้าระบบ E-Tax Invoice หนุนรับสิทธิลดหย่อนภาษี

12 ม.ค. 2568 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2568 | 13:44 น.

สรรพากรชวนผู้ประกอบการเข้าระบบ E-Tax Invoice รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt พร้อมให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการลดหย่อนภาษี  Easy E-Receipt 2.0 สำหรับปีภาษี 2568 ที่จะเริ่มในวันที่ 16 ม.ค.-28 ก.พ.นี้ กรมสรรพากรได้ประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และร้านค้า OTOP ให้ลงทะเบียนเข้าระบบการออก E-Tax Invoice เพื่อจะได้มีสิทธิเข้าร่วมรับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในครั้งนี้

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร

ทั้งนี้ ได้จูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าระบบ E-Tax Invoice โดยผู้ประกอบการที่เข้าระบบดังกล่าว สามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านระบบดิจิทัล ทั้งบริการซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ในการหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งยังทำให้สะดวกต่อการยื่นแบบภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารที่เป็นกระดาษอีกด้วย

ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และร้านค้า OTOP เข้าร่วมระบบ E-Tax Invoice รวม 20,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเท่าตัวจากปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 10,000 ราย อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ก็จะพยายามเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก

“ยอมรับว่าการให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบ E-Tax Invoice เป็นแบบภาคสมัครใจ ส่วนมากจึงมีเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อม”

สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษี  Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการที่ให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น

ทั้งนี้ แบ่งเป็น การหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 

และการหักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเฉพาะร้านค้า OTOP ก็ได้
ขณะที่กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

อย่างไรก็ตาม ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต    
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

"e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย"