“รฟม.” แนะ 3 ทางเลี่ยง หลังปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ สร้าง “สายสีส้ม”

07 ม.ค. 2568 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2568 | 13:01 น.

“รฟม.” สแกนพื้นที่ตรวจความพร้อม หลังปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ยาว 3 ปี สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมเปิด 3 ทางเลี่ยงรถติด

นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟม. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์  

ทั้งนี้ได้ตรวจสอบความเรียบร้อย และความปลอดภัยในการดำเนินงาน ก่อนเริ่มปิดช่องจราจรในคืนวันที่ 6 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชม. จนถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2571 เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางขุนนนท์ (OR02) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ตัดกับถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาส

“รฟม.” แนะ 3 ทางเลี่ยง หลังปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ สร้าง “สายสีส้ม”
 
ขณะเดียวกันในระหว่างปิดเบี่ยงจราจร ผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรได้เฉพาะทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาส ฝั่งขาเข้าและขาออก ได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และเพื่อเป็นการลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างการปิดและรื้อถอนสะพาน รฟม. จึงขอแนะนำเส้นทางเลี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. เส้นทางถนนบรมราชชนนี กรณีผู้ใช้เส้นทางเดินทางจากถนนราชพฤกษ์ ต้องการเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราช สามารถใช้ถนนบรมราชชนนี ต่อเนื่องถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า จากนั้นเลี้ยวเข้าสู่ถนนอรุณอมรินทร์ เพื่อมุ่งหน้าปลายทางโรงพยาบาลศิริราช หรือใช้ถนนบรมราชชนนี มุ่งหน้าถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อเดินทางเข้าฝั่งพระนคร 

2. เส้นทางถนนราชพฤกษ์ กรณีผู้ใช้เส้นทางเดินทางจากถนนราชพฤกษ์ ต้องการเดินทางไปยังโรงพยาบาล   ศิริราชสามารถใช้ถนนพรานนก - พุทธมณฑล สาย 4 เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ถนนพรานนก ถนนวังหลัง เพื่อมุ่งหน้าปลายทางโรงพยาบาลศิริราช หรือไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนอิสรภาพ และถนนอรุณอมรินทร์ มุ่งหน้าถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อเดินทางเข้าฝั่งพระนคร 

3. เส้นทางถนนแก้วเงินทอง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 กรณีผู้ใช้เส้นทางเดินทางจากถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน เลี้ยวเข้าสู่ถนนฉิมพลี ระยะทางประมาณ 100 เมตร ให้เลี้ยวเข้าสู่ถนนแก้วเงินทอง มุ่งหน้าซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 เพื่อออกสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ 

“รฟม.” แนะ 3 ทางเลี่ยง หลังปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ สร้าง “สายสีส้ม”

จากนั้นยูเทิร์นหน้าห้างสรรพสินค้า Makro มุ่งหน้าแยกไฟฉาย เลี้ยวเข้าสู่ถนนพรานนก ผ่านแยกพรานนก เข้าสู่ถนนวังหลัง เพื่อมุ่งหน้าปลายทางโรงพยาบาลศิริราช หรือไปยังถนนอิสรภาพ และถนนอรุณอมรินทร์ มุ่งหน้าถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อเดินทางเข้าฝั่งพระนคร

นอกจากนี้ รฟม. ยังได้กำชับให้ที่ปรึกษาโครงการ กำกับดูแลการดำเนินงานของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ร่วมลงทุน และ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างของ ผู้ร่วมลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยให้ดำเนินงานมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง 

ส่วนมาตรการการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้มีการบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตำรวจในท้องที่ ในการจัดจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงระหว่างดำเนินงาน และมีการดูแลสภาพทางเท้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้ประชาชน ตลอดจนเน้นย้ำให้ดำเนินการก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด ตามนโยบายด้านความปลอดภัยของกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด  

นายกิตติกร  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ผู้รับจ้างมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์กลับคืนในเดือนธันวาคม 2569 คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนมิถุนายน 2571 โดยภายหลังเปิดใช้สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ ผู้ใช้เส้นทางจะสามารถกลับมาสัญจรบนสะพานฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และสัญจรทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาสฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร เหมือนเดิม  

“รฟม.” แนะ 3 ทางเลี่ยง หลังปิดสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ สร้าง “สายสีส้ม”

อย่างไรก็ตามในระหว่างการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจมีเสียงดังรบกวนพื้นที่บริเวณใกล้เคียงในวันเวลาดังกล่าว ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น ประชาชนโปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง และ รฟม. ขออภัยในความไม่สะดวก