ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 67 “หมีเนย-หมูเด้ง” แชมป์ “กัญชา-บาวเบียร์-หม่าล่า” ซบยาว

28 ธ.ค. 2567 | 16:00 น.

การเดินหน้าธุรกิจในแต่ละปี มีการขับเคลื่อนหมุนเวียนแบรนด์ใหม่เกิดขึ้น แบรนด์เก่าจากไป ในปี 2567 ก็มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่แบรนด์ที่โดดเด่นเป็น “ดาวรุ่ง” หรือจะซบเซาเป็น “ดาวร่วง” จะมีใครบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ขอรวบรวมมาไว้ที่นี่

“หมีเนย” ดาวรุ่งขวัญใจมหาชน

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธุรกิจร้านขนมที่ “Butterbear” ผู้ปลุกปั้น “หมีเนย” จนกลายเป็นดาวรุ่ง ขวัญใจมหาชนดวงใหม่ โด่งดังทั้งในและต่างประเทศ

“หมีเนย” ถือกำเนิดในโลกโซเชียล จากการเริ่มคิกออฟขายคุกกี้ Butterbear ในปี 2563 ด้วยจุดขาย “แพคเกจจิ้งสุดคิวท์” จนกระทั่งในปี 2566 Butterbear เริ่มมีออเดอร์มากขึ้น พร้อมกับกระโดดจากโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ ด้วยการปักหมุดร้าน “Butterbear Dessert Cafe” แห่งแรกและแห่งเดียวจนถึงทุกวันนี้ ที่ชั้น G เอ็มสเฟียร์

หมีเนย

วันนี้ “หมีเนย” กลายเป็นไอคอนิกของความน่ารักตกผู้คนทั่วบ้านทั่วเมือง ข้อมูลจาก “แกร็บ” เผยข้อมูลสถิติ “ที่สุดแห่งปี 2024” กระแสไวรัลของ “หมีเนย” ขวัญใจโซเชียลมาแรงไม่แผ่วตลอดทั้งปี ทำให้ยอดสั่งเมนูต่าง ๆ ของบัตเตอร์แบร์ (Butterbear) พุ่งเป็นประวัติการณ์โดยเติบโตกว่า 1,200%

สิ่งที่น่าสนใจจาก “หมีเนย” ที่มากไปกว่าจุดกำเนิดของความโด่งดัง และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอื่น ๆ ตลอดจน SME สามารถเรียนรู้และหยิบไปใช้ได้คือ ‘การต่อยอดจากกระแสความโด่งดัง’

“หมูเด้ง” ฮิปโปแคระสุดคิวท์

ใครจะไปคิดว่าลูกฮิปโปแคระตัวน้อยๆ อย่าง “หมูเด้ง” จะกลายเป็นดาวดังไปทั่วโลก ได้ขนาดนี้ ด้วยความสดใสและความขี้เล่น จนกลายเป็นขวัญใจของทุกคนไปโดยปริยาย

จุดเริ่มต้นของความดังของ “หมูเด้ง” เผยแพร่ในโลกโซเชียลจากคลิปวิดีโอสุดน่ารัก การใช้ชีวิต การกิน นอน เดิน วิ่ง หาว อ้า กลายเป็นมีมสุดฮิตที่ถูกแชร์กันไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนหลงรักในความน่ารักของหมูเด้งไปตามๆ กัน

หมูเด้ง

ความดังของหมูเด้งไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีคนจากทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชมหมูเด้งที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมากขึ้น ความร้อนแรงของ“หมูเด้ง” ทำให้มีแบรนด์สินค้าติดต่อเข้ามาร่วมคอลแลปส์ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันมากกว่า 100 แบรนด์

วันนี้จึงเห็นโลโก้ “หมูเด้ง” ไปกระเด้งอยู่บนแบรนด์สินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า แก้วนํ้า สติ๊กเกอร์ ไอศกรีม รวมถึง เกม ที่มีผู้นำหมูเด้งไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครในเกมต่างๆ เช่น VALORANT, FINAL FANTASY XIV และ World of Warcraft ทำให้หมูเด้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกมไปแล้ว

 

ArtToy เป็นมากกว่าของเล่นคนรวย

Art Toy จากของเล่นในรูปแบบศิลปะ ที่ถูกเนรมิต สร้างสรรค์ ต่อยอดกลายเป็น ตัวการ์ตูน ตุ๊กตารูปร่างต่างๆ ทั้งน่ารัก แปลก เก๋ ตามจินตนาการของศิลปิน กลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่หลายคนเลือกสรร ไปสะสม วันนี้ Art Toy จึงไม่ใช่ของเล่นสำหรับคนรวยอีกต่อไป เมื่อ Art Toy ถูกครีเอทให้ออกมาในรูปแบบที่แตกต่าง

เข้าถึงง่ายจากการหยิบเอาเทรนด์หรือวัฒนธรรมที่คนทั่วไปสนใจมาใส่ ต่างจากฟิกเกอร์ทั่วไปที่มักจะมีที่มาจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์ Art Toy มักจะไม่มีเรื่องราวที่ตายตัว ทำให้เราได้ตีความหมายไปตามความชอบ และการคิดของเราเอง

ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 67 “หมีเนย-หมูเด้ง” แชมป์ “กัญชา-บาวเบียร์-หม่าล่า” ซบยาว

“อาร์ตทอยจึงไม่เพียงแต่เป็นของเล่นหรือของสะสมทั่วไป แต่ยังกลายเป็นงานศิลปะที่สะท้อนรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักสะสมที่มองหาชิ้นงานที่มีจำนวนจำกัดและมีคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งส่งผลให้ราคาของอาร์ตทอยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ อาร์ตทอยจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดาวรุ่งแห่งปี” ในวงการสะสม และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อมี “ดาวรุ่ง” ก็ต้องมี “ดาวร่วง” หลายธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จในปี 2567 บางแบรนด์ที่เคยเป็นดาวรุ่ง เมื่อเวลาผ่านไปกลับลดดีกรีความร้อนแรงลง

“กัญชา” กลับสู่ยาเสพติดประเภท 5

“กัญชา” และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกำลังเงียบหายและถูกพูดถึงน้อยมากในปี 2567 จากกระแส “กัญชาฟีเวอร์” และมูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้นสูงอยู่ในช่วงระยะหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งช่อดอกกัญชาแห้ง ใบกัญชา รวมทั้งสารสกัด CBD (Cannabidiol) ที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบและช่วยให้ผ่อนคลาย และ THC (Tetrahydrocannabinol) มีฤทธิ์ทำให้เมาและมีผลต่อระบบประสาท

ส่วนประกอบเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการแพทย์และเป็นส่วนผสมในอาหารอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งเกิดข้อถกเถียงในด้านกฏหมายและการใช้ ภายหลังจึงเกิดกรณีเรียกร้องดึง “กัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 ที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 67 “หมีเนย-หมูเด้ง” แชมป์ “กัญชา-บาวเบียร์-หม่าล่า” ซบยาว

ต่อมาในช่วงรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) มีคำสั่งให้ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อควบคุมการบังคับใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ วิจัยและเศรษฐกิจเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่น รู้สึกว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชาน่าจะดำเนินการต่อได้ แม้จะต้องรอดูกฎหมายที่แน่ชัดอีกครั้ง

ที่สุดแล้วเมื่อถึงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เคาะร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ส่งผลต่อผู้ประกอบการในธุรกิจกัญชาและเกี่ยวเนื่อง ที่สุดแล้ว “กัญชา” ก็ค่อยๆ ซาจากตลาดไป

“บาวเบียร์” ฝ่าด่าน “สิงห์-ช้าง”

การเข้ามาของ “คาราบาวเบียร์” สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเบียร์ไทย 2.6 แสนล้านบาท อย่างคาดไม่ถึง ด้วยตลาดที่มี 2 บิ๊กเนมอย่าง “บุญรอดบริวเวอรี่” และ “ไทยเบฟเวอเรจ” โหมรันพันตูชิงหักเหลี่ยมเฉือนคมมายาวนาน

หลังจากเปิดตัวเบียร์ “คาราบาว และตะวันแดง” ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แม้จะเจออุปสรรคในเรื่องช่องทาง การจัดจำหน่าย แต่คาราบาวเบียร์ก็ไม่ย่อท้อ และยังคงเดินหน้ารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ขยับตัวครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ทุ่ม 4,000 ล้านบาท ส่ง 2 แบรนด์ “คาราบาว - ตะวันแดง” ชิงส่วนแบ่งตลาด พร้อมเร่งทำตลาดช่องทาง On Premise อย่างหนัก โดยตั้งเป้าหมายที่จะคว้าส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ถึง 10% ซึ่งถือเป็นการท้าทายสองยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่างชัดเจน

หลังแกรนด์โอเพ่นนิ่งไม่นาน “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อคาราบาว ก็ออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ยอดขายยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ความท้าทายของคาราบาวเบียร์ แม้จะมีศักยภาพและความพร้อมในการแข่งขัน แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ

สำคัญสุดคือ “พฤติกรรมผู้บริโภค” ที่ยังยึดติดกับรสชาติเดิมๆ แบรนด์เนมๆ งานนี้คู่แข่งที่ “คาราบาวเบียร์” พ่าย เห็นจะหนีไม่พ้น “ผู้บริโภค” ที่ยังต้องเดินหน้าหากลเม็ดในการเอาชนะ ดึงให้เปลี่ยนใจให้หันมาซดบาวเบียร์แทน

“หม่าล่า” แฟชั่นฟู้ด มาเร็วไปไว

“หม่าล่า” อาหารรสจัดจ้านจากจีน ที่เคยครองใจคนไทยมาแล้วทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นกระแสโด่งดังอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันความนิยมอาจลดลงบ้าง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็ฯ ความซํ้าซากจำเจ เมื่อมีร้านหม่าล่าเปิดจำนวนมาก รสชาติและเมนูก็เริ่มมีความคล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเบื่อหน่ายและต้องการรสชาติใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป

รวมถึงตลาดอาหารมีการแข่งขันสูงขึ้น มีเมนูอาหารใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาให้เลือกมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อาจจะมีเมนูอาหารอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น หรือบางคนอาจจะเบื่อรสชาติเผ็ดร้อนของหม่าล่าแล้ว และปัญหาสุขภาพ รสชาติที่เผ็ดร้อนของหม่าล่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม หม่าล่ายังคงเป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมอยู่เพียงแต่ความนิยมอาจจะไม่สูงเท่าช่วงแรกๆร้านอาหารหลายแห่งก็ยังคงปรับปรุงเมนูหม่าล่าให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาอีกครั้งนอกจากนี้ กระแสความนิยมของอาหารแต่ละชนิดมักจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อาจจะมีเมนูอาหารใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่หรือหม่าล่าอาจจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในอนาคตก็ได้

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 4057 วันที่ 29 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม พ.ศ. 2568