AOT ดึงเอกชนลงทุนพื้นที่ราชพัสดุ 5 สนามบินของทอท. รับสัญญาเช่า 30 ปี

14 ธ.ค. 2567 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 10:24 น.

AOT ดึงเอกชนลงทุนพื้นที่ราชพัสดุ ใน 5 สนามบินของ ทอท. รับธนารักษ์ให้เช่าพื้นที่ 30 ปี เตรียมจัดโชว์เคสการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายนอกอาคารผู้โดยสาร ดึงลงทุนพื้นที่ว่างเปล่า 5 แปลงใน 4 สนามบิน ทั้งปรับปรุงพื้นที่อาคารสนามบินดอนเมืองพลิกโฉมดึงทุนใหม่

ปัจจุบันพื้นที่ทั้ง 6 สนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT มีพื้นที่รวม 33,369.46 ไร่ กว่า 32,237.73 ไร่ เป็นทรัพย์สินครอบครอง ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ ที่ทอท.เช่าต่อจากกรมท่าอากาศยาน และกองทัพอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 96.6% ส่วนอีก 3.4% เป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ของทอท. ราว 1,131.74 ไร่

AOT ดึงเอกชนลงทุนพื้นที่ราชพัสดุ 5 สนามบินของทอท. รับสัญญาเช่า 30 ปี

AOT ดึงเอกชนลงทุนพื้นที่ราชพัสดุ ในสนามบินของทอท.

โดยทอท.มีแผนจะดึงเอกชนเข้าลงทุนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ว่างเปล่า ที่มีศักยภาพภายนอกอาคารผู้โดยสารรวมกว่า 2,511.97 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ราว 1,830.97 ไร่ และเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของทอท. 681 ไร่ รวมถึงการปรับปรุงอาคารปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ในสนามบินต่างๆ ของทอท.เพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุน

นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ  ”ว่า หลังจากกระทรวงการคลังเห็นชอบ ขยายเวลาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งกรมท่าอากาศยาน ดูแล ออกไปอีก 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 64 - 29 ก.ย. 94 ในสนามบิน สุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบิน หาดใหญ่ สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และบางส่วนของสนามบินเชียงใหม่ไปแล้ว

ขณะนี้ยังมีพื้นที่ราชพัสดุในส่วนของสนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่บางส่วน ที่อยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศ (ทอ.) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเสนอแก้ไขข้อตกลงในการขยายเวลาการใช้ประโยชน์ที่ดินออกไปอีก 30 ปีเช่นกัน

ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ ซึ่งทอท.ได้ทำข้อตกลงไว้กับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกองทัพอากาศ (ทอ.) นอกจากทอท.จะการเปิดให้เอกชนลงทุนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่อาคารผู้โดยสารแล้ว ทอท.ยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน และพื้นที่ด้านนอกสนามบิน ในการหาผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน เพื่อขยายรายได้ธุรกิจ Non-Aero เพิ่มขึ้น

               

จัดโชว์เคสดึงเอกชนลงทุนพื้นที่ว่างเปล่า 5 แปลงใน 4 สนามบิน 

ล่าสุดทอท.เตรียมจะจัดสัมมนาและโชว์เคส โครงการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่มีศักยภาพภายนอกอาคารผู้โดยสาร ในเดือนมีนาคม 2568 ที่จะนำเสนอจุดขายของแปลงที่ดิน แนวคิดการพัฒนา ข้อจำกัด และปัจจัยต่างๆ พร้อมรับฟังความคิดเห็น เพื่อเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุน ทั้งในพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ และพื้นที่ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของทอท. ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวม 2,511.97 ไร่ ได้แก่

1.พื้นที่แปลง 37 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 547.92 ไร่ (ที่ดินราชพัสดุ) ซึ่งอยู่ในเขตสนามบิน โดยมองว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุม ธุรกิจโรงแรม 3 ดาว โรงแรม 4 ดาว รองรับผู้มาใช้บริการในพื้นที่และผู้โดยสารที่มาจากสนามบิน เพื่อท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ ที่อยู่ประชิดอาคารผู้โดยสาร

2. พื้นที่แปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ที่ดินของทอท.) ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 434 ไร่ ทอท.มีแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการและสนับสนุนกิจการท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการบินและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งที่ดินแปลงนี้ทอท.จะสร้างถนน และสะพานยกระดับ และระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคเอกชน ซึ่งทอท.มองว่าน่าจะพัฒนาให้เป็นโรงแรม ,แอร์พอร์ต โลจิสติกส์ พาร์ค , ศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก หรือ Certify Hub , อาคารที่พักอาศัยให้เช่า,บ้านพักพนักงาน,ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้สนใจลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2569 โดยทอท.หวังว่าจะรับรู้ได้ในปี 2571

3.พื้นที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ที่ดินราชพัสดุ) 3 แปลง รวม 19.13 ไร่ ซึ่งระยะแรกจะเปิดให้เอกชนลงทุนในพื้นที่แปลงเชียงใหม่-หางดง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 3-4 ไร่ นอกสนามบินแถวๆศูนย์การค้าโลตัส บิ๊กซี ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมน่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการอยู่อาศัย หรือกิจกรรมพาณิชยกรรม คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถสร้างอาคารสูงได้ 7-9 เมตร

4.พื้นที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย (ที่ดินราชพัสดุ) มีพื้นที่แปลงใหญ่ถึง 761 ไร่ อยู่ในรั้วสนามบิน สามารถพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นรีเทล การให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม คาเฟ่ และเซอร์วิสต่างๆได้ เพิ่มเติมจากในพื้นที่นี้ทอท.ได้ให้บริษัทเชียงราย เอเวชั่น โฮลดิ้งส์ จำกัด เช่าพื้นที่จำนวน 50 ไร่ เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ (MRO) โดยเสนอผลตอบแทนให้กับทอท.ในรูปแบบของค่าเช่าที่ดิน และค่าตอบแทนส่วนแบ่งผลประโยชน์ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 722 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 18 เดือน

5.พื้นที่แปลง 1-11 ท่าอากาศยานหาดใหญ่(ที่ดินราชพัสดุ) เบื้องต้นจะเปิดให้พัฒนาในพื้นที่ 17 ไร่ ทอท.มีแนวคิดในการแบ่งโซนทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรม EV Charging Station และ Car Service ที่ประกอบด้วย สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ศูนย์ดูแลซ่อมบำรุง และสำนักงานรถเช่า กิจกรรม Commercial Retail Stores เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ Co Working Space และห้องประชุม กิจกรรม Residential Budget Hotel เป็นห้องพักในรูปแบบที่เรียบง่าย จองง่าย และพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สวนหย่อม สระน้ำ และพื้นที่เพื่อการพักผ่อน

ปรับปรุงพื้นที่อาคารสนามบินดอนเมืองพลิกโฉมดึงทุนใหม่

ไม่เพียงแต่การพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าเท่านั้น ทอท.ยังมีปรับปรุงอาคารปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ในสนามบินต่างเพื่อดึงเอกชนเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณคลังสินค้าเดิมในท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งทอท.ร่วมลงทุนกับ Forth 25% Forth ถือหุ้น 75% เพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) บริการ Part maintenance และ บริการ Non destructive test โดยเน้นให้บริการเครื่องตระกูล Narrow body ที่อยู่การเข้าปรับปรุงพื้นที่

รวมถึงแผนการเปิด PPP ให้เอกชนมาลงทุนโครงการ Junction Terminal ที่จะเป็นอาคารพาณิชย์ และอาคารที่จอดรถในสนามบินดอนเมืองด้วย อีกทั้งยังมีพื้นที่ศูนย์ซ่อมดอนเมืองของการบินไทย ที่ต่อไปทอท.ก็ต้องนำพื้นที่นี้เข้าสู่กระบวนการพรบ.ร่วมทุน เนื่องจากการบินไทยพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว นายศิโรตม์ กล่าวทิ้งท้าย