สหรัฐฯ เก็บภาษีโซลาร์เซลล์ 4 ประเทศอาเซียน สูงสุด 271% ชี้มีการทุ่มตลาด

08 ธ.ค. 2567 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2567 | 08:37 น.
4.1 k

สนง. เมืองไมอามี เผยผลพิจารณาบริษัทผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ ที่ตั้งฐานผลิต 4 ประเทศมาเลเซีย-เวียดนาม-กัมพูชา-ไทย ชี้เป็นต้นเหตุให้ราคาสินค้าโซลาร์เซลล์ในตลาดโลกร่วง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ผลการพิจารณาในขั้นต้น (Preliminary Determination) ต่อกรณีข้อร้องเรียนจากคณะกรรมการการค้าการผลิตโซลาร์เซลล์สหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่าบริษัทผู้ผลิตโซลาร์เซลล์สัญชาติจีน 

ทั้งนี้ โรงงานสถานที่การผลิตตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุเจาะจง 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และประเทศไทย เป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าโซลาร์เซลล์ในตลาดโลกร่วงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มตลาดการส่งออกมายังสหรัฐฯ 

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯโดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มดำเนินการไต่สวนข้อกล่าวหาดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยได้เลื่อนกำหนดการพิจารณาในขั้นต้นมาเป็นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน กระทั่งได้เผยแพร่ข้อมูลผลการพิจารณาในขั้นต้นฉบับเต็มในระบบเผยแพร่กฎระเบียบกลางของสหรัฐฯ (Federal Register) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมนี้

สำหรับผลจากการพิจารณาชี้ว่าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศไทย และอีกจาก 3 ประเทศที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นมีพฤติการณ์หรือเข้าข่ายนำเข้าสินค้ามาและจำหน่ายในสหรัฐฯในมูลค่าที่ไม่เป็นธรรม ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯโดยสำนักงานการค้าระหว่างประเทศได้กำหนดส่วนเหลื่อมราคาทุ่มตลาดเฉลี่ย ซึ่งเป็นตัวกำหนดสัดส่วนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศไทย ประกอบด้วยอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแบบเจาะจงรายบริษัทจำนวนทั้งหมด 3 บริษัท และอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดทั่วไป (All Others) ดังนี้

  • บริษัท Trina Solar Science & Technology (Thailand) Ltd. อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 77.5%
  • บริษัท Sunshine Electrical Energy อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 154.68%
  • บริษัท Taihua New Energy (Thailand) Co. Ltd. อัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 154.68%

นอกจากนี้ ผู้บริโภคสินค้าพลังงานสะอาดกลุ่มนี้อาจชะลอความต้องการสินค้าโซลาร์เซลล์ลงอย่างมีนัยยะสำคัญในแง่ของการผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า หากพิจารณาเปรียบเทียบกำหนดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในครั้งนี้ ซึ่งทั้ง 4 ประเทศถูกกำหนด ดังนี้

  •  เวียดนาม มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 271.28%
  • กัมพูชา มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 125.37%  
  • ไทย มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 77.85% 
  • มาเลเซีย มีอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ที่ร้อยละ 21.31%

ทั้งนี้ มีบางบริษัทจากแต่ละประเทศที่ถูกระบุอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายเฉพาะต่างหากอีก ทำให้ในภาคธุรกิจผู้นำเข้าของสหรัฐฯคาดการณ์ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาลดังจากทั้ง 4 ประเทศ ตามอัตราภาษีตอบโต้ที่ได้ระบุไว้นั้น การนำเข้าสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศอินโดนีเซียและประเทศลาวอาจเป็นทางเลือกสำรองในระยะสั้นไปพลางก่อน 

เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศยังไม่มากนัก แต่ในอนาคตหากมูลค่าการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศเพิ่มสูงขึ้นก็อาจถูกเพ่งเล็งเช่นเดียวกันกับที่ 4 ประเทศถูกพิจารณาไปในครั้งนี้