สืบเนื่องจาก มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เห็นชอบ "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท หรือ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 โดยมี วัตถุประสงค์และวิถีการดำเนินงานเหมือนโครงการฯ ปีการผลิต 65/66 ที่เคยดำเนินการ) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยมี กลุ่มเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือน รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท เมื่อผ่านที่ประชุมมาแล้ว ชาวนาหลายคนก็อยากทราบว่าจะจ่ายได้เมื่อไร แล้วชาวนาจะได้ทุกกลุ่มหรือไม่
ต่อจากกรณีนี้ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้วนั้น ซึ่งการจะโอนจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือชาวนา นั้นจะต้องรอความพร้อมของ ธ.ก.ส.และข้อมูลรายชื่อของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อน เนื่องจากเกษตรกรบางรายที่ได้รับการช่วยเหลือจากภัยพิบัติธรรมชาติ หรือ น้ำท่วมไปแล้วจะไม่ได้รับจากโครงการนี้
“หากจ่ายเงินไร่ละ 1,000 ไม่เกิน 10 ไร่ จะกลายเป็นซ้ำซ้อนกับการเยียวยาน้ำท่วม ที่รัฐบาลได้จ่ายไปแล้ว ก่อนหน้านี้ โดยหลักแล้วจะจ่ายซ้ำซ้อนไม่ได้ แล้วการจ่ายครั้งนี้เป็นการอุดหนุนให้กับเกษตรกร ยกตัวอย่างปลูกไปแล้ว ไม่ได้เก็บเกี่ยว ไม่ได้ทำอะไร เพราะน้ำท่วมหมดแล้ว แล้วเกษตรกรจะรับเงินตรงนี้ได้อย่างไร เมื่อพูดตามหลักความเป็นจริงจะต้องได้ทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าแจก 2 ทาง คนที่แจกเสี่ยงติดคุก”
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะต้องเช็ค และสำรวจรายชื่อเกษตรกร แยกออกมาเป็น 2 กลุ่ม ก็คือกลุ่ม 1ที่ได้รับเงินเยียวยาจากน้ำท่วมไปแล้ว ตามอัตรา 1,340 บาท/ไร่ และเมล็ดพันธุ์ สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ย ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ซึ่งจะได้รับเงินจากกรณีดังกล่าว ต้องกันรายชื่อแยกออกมา แล้วถ้าจะไปจ่ายซ้ำซ้อนให้อีก รัฐบาลคงจ่ายไม่ไหว ซึ่งการประเมินพื้นที่ภัยธรรมชาติน้ำท่วมเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 1.2 ล้านไร่ คาดว่าประมาณ 5 แสน-6 แสนราย ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้เงินไร่ละ 1,000 บาท ก็ขอทำความเข้าใจกับชาวนาทั้งประเทศด้วย
ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามขั้นตอน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางเลขานุการ ครม. จะแจ้งไปที่กระทรวง แล้วทางกระทรวงจะต้องไปแจ้งยังอธิบดีกรมการข้าว ต้นขั้วที่ส่งเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. แล้วหลังจากนั้นกรมการข้าว เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร
“กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะนายทะเบียนเกษตรกร เราพอจะประเมินได้ว่าวิธีการทำงานเป็นอย่างไรแล้ว ในส่วนของกรมก็มีความพร้อมในเรื่องของทะเบียนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ซึ่งตอนนี้ได้ประสานกับ ธ.ก.ส. จะมีเวลาส่งข้อมูลรายชื่อให้เกษตรกรเป็นชุดได้อย่างไร มีการพูดคุยหารือหลังบ้านแล้วอย่างไม่เป็นทางการ”
ทั้งนี้เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังจากทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว 15 วัน ซึ่งเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในช่วงนาปี จะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม-ธันวาคม จากข้อมูลระบบการติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ของประเทศไทยจากข้อมูลดาวเทียม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เกษตรกรสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ 3 ช่องทางเท่านั้น คือ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขอเชิญชวนเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังจากทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว 15 วัน ตามช่องทาง 3 ช่องทางข้างต้น และเน้นย้ำว่าให้ระวังมิจฉาชีพหลอกลวง แอบอ้างอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อเข้าร่วมโครงการมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือ Line โปรดดูรายละเอียดช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนให้ข้อมูล หรือ ดำเนินการกรอกข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ และหากมีข้อสงสัย โปรดติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านเท่านั้น