เจาะลึกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โจทย์ใหญ่ คลัง vs แบงก์ชาติ

29 ต.ค. 2567 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2567 | 11:18 น.

เจาะลึกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเฟ้อคืออะไร หลังกระทรวงการคัลและธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมหารือกรอบเป้าหมายที่เหมาะสม พร้อมเปรียบเทียบเป้าหมายเงินเฟ้อ 5 ประเทศอาเซียน

ความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจไทยกำลังเกิดขึ้น เมื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นที่ 1-3% ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และกระทรวงการคลัง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย การกำหนดกรอบนี้ไม่ได้มองเพียงตัวเลขเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

 

มุมมองต่อการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าเงินเฟ้อจริงควรอยู่ในกรอบ 1-3% อาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าได้บ้าง แต่ไม่ควรจะอยู่นอกกรอบมากจนเกินไป ถ้ามีแนวโน้มจะหลุดกรอบก็ควรต้องออกมาตรการมาแก้ไข โดยต้องหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาชุดมาตรการที่แก้ปัญหาอย่างได้ผลและยั่งยืน

ดร.นณริฏ อธิบายต่อว่า โดยหลักการแล้ว นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องสอดประสานกัน จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยทั้งนโยบายการเงินและการคลังต้องตอบโจทย์ทั้งภาพรวม และภาพย่อย ภาพรวมคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตของ GDP เงินเฟ้อ เสถียรภาพของค่าเงิน

ขณะที่ภาพย่อย คือ ธุรกิจรายสาขา และประชาชนรายกลุ่ม ซึ่งจะพบว่าในภาพรวมแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ในภาพย่อยจะพบว่ามีกลุ่มประชากร และกลุ่มธุรกิจที่ยังคงประสบปัญหา

ดังนัั้น การวางมาตรการจะต้องหารือคุยกันทั้งภาพรวมว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใดที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันต้องหารือในเรื่องภาพย่อย คือ จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจบางกลุ่มและประชาชนบางกลุ่มอย่างไร ในส่วนแรกจะเป็นการปรับดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ส่วนหลังจะเน้นที่มาตรการระดับจุลภาค คือ เน้นรายจุด เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจในบางจุด การหาทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้ง 2 ส่วน ต้องมองหาจุดสมดุลระหว่างผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและในระยะยาว ถ้าเน้นแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างเร่งด่วนจนเกินไปมักจะกระทบกับเสถียรภาพในระยะยาว ขณะที่ถ้าเน้นที่ระยะยาวจนเกินไปก็อาจจะทำให้ธุรกิจประชาชนเผชิญกับความยากลำบากในระยะสั้น จึงต้องหานโยบายที่เหมาะสม

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ คืออะไร

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ว่า เป็นช่วง % ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (เช่น 1-3%) ที่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางจะใช้เป็นเป้าหมายในการดูแลระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบนี้ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นลงเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบดังกล่าวอย่างเหมาะสม 

ตัวอย่างเช่น ช่วงที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับสูงขึ้น ทำให้คนคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลง (เพราะการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง) ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมหรือการตัดสินใจในหลายเรื่อง เช่น ลดการต่อรองในการขึ้นค่าจ้าง หรือไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ หรือขึ้นราคาเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปปรับลดลงมาตามที่ต้องการได้ในที่สุด

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยเป็นอย่างไร 

ปัจจุบัน ธปท. ใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น คือ ให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-3%  ซึ่งเป็นกรอบที่ กนง. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันกำหนดให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายแบบยืดหยุ่น

จะเน้นดูแลเสถียรภาพของราคาควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถรองรับความผันผวนของเงินเฟ้อจากปัจจัยชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลกได้ เพราะเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานที่การปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลมีผลจำกัด   

กรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้จึงเป็นเป้าหมายระยะปานกลาง โดยทั่วไปหมายถึง 3 – 5 ปี สะท้อนการคาดการณ์ของธุรกิจในการวางแผนการผลิตและตั้งราคาสินค้าและบริการได้ ซึ่งในบางช่วงเวลาเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ แต่ต้องมีแนวโน้มกลับเข้ามาในกรอบ

ในระยะสั้นอาจเห็นการหลุดกรอบของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้ตามปัจจัยชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลก ซึ่งจะสามารถคลี่คลายได้เอง หรือมีแนวโน้มกลับเข้ามาในกรอบ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่มีลักษณะผันผวนจนเกินไป เพราะอาจกระทบต่อการคาดการณ์และการวางแผนทางธุรกิจ   

เงินเฟ้ออยู่ในกรอบและอยู่นอกกรอบ หมายความว่าอย่างไร 

“เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ” แสดงว่าราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับที่คาดการณ์ และเป็นเรื่องปกติที่ เงินเฟ้ออาจออกนอกกรอบได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ตามปัจจัยชั่วคราวที่มีความผันผวนสูง ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่าเมื่อทุกครั้งที่เงินเฟ้อสูงหรือต่ำกว่ากรอบแล้วจะต้องขึ้นหรือลดดอกเบี้ยทันที เพราะยังต้องดูปัจจัยอื่นด้วย อย่างเช่น การเติบโตเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน

เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย น่ากังวลไหม

ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เงินเฟ้อหลุดกรอบและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไป

ไม่น่ากังวล หากเงินเฟ้อหลุดกรอบจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาน้ำมันโลก ภัยธรรมชาติ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งมักมีผลเพียงชั่วคราว และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้

น่ากังวล คือ เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มหลุดกรอบเป็นเวลานานจนถึงระดับที่ทำให้คนเปลี่ยนการคาดการณ์และส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนคนคิดว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ประกอบการเร่งขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

กรณีที่เงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง จนคิดว่าเงินเฟ้อจะต่ำต่อไป และยากที่จะปรับเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาวะเงินฝืด ทำให้คนชะลอการใช้จ่าย ธุรกิจผลิตสินค้าน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้

เจาะลึกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โจทย์ใหญ่ คลัง vs แบงก์ชาติ

เทียบเป้าหมายเงินเฟ้ออาเซียน 

แต่ละประเทศได้กำหนดอัตราเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไปเพื่อควบคุมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% ถึง 4% ต่อปี ขณะที่ข้อมูลจาก สนค.ระบุถึง อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. - มิ.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ซึ่งคำนวณโดยใช้ข้อมูลตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ดังนี้ 

ไทย

  • เป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%
  • เงินเฟ้อล่าสุด 1.3 %

อินโดนีเซีย

  • เป้าหมายเงินเฟ้อ 1.5-3.5%
  • เงินเฟ้อล่าสุด 2.79%

ฟิลิปปินส์

  • เป้าหมายเงินเฟ้อ 2-4%
  • เงินเฟ้อล่าสุด 3.55 %

เวียดนาม

  • เป้าหมายเงินเฟ้อ 4.0-4.5
  • เงินเฟ้อล่าสุด  4.08 %

มาเลเซีย

  • เป้าหมายเงินเฟ้อ  2.0-3.5 (กรอบประมาณการ)
  • เงินเฟ้อล่าสุด  1.81%

สำหรับสิงคโปร์ ไม่มีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขเฉพาะเจาะจงเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยทางสิงคโปร์จะเน้นใช้ นโยบายค่าเงิน (Exchange Rate Policy) ในการควบคุมเสถียรภาพของเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS - Monetary Authority of Singapore) จะปรับกรอบการแลกเปลี่ยนเงินให้เหมาะสมเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อ แทนที่จะตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขของเงินเฟ้อโดยตรง​ 

อ้างอิงข้อมูล