“จิราพร” เผยยอดผู้ร้องทุกข์ The icon group จำนวน 504 ราย ความเสียหาย 118 ล้านบาท

13 ต.ค. 2567 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2567 | 10:49 น.
856

“จิราพร สินธุไพร" เผยยอดผู้ร้องทุกข์ The icon group จำนวน 504 ราย เตรียมหารือ DSI เป็นคดีพิเศษ มองดาราชี้แจงพูดตามสคริปต์เป็นสิทธิ์ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการ สั่ง สคบ. ทบทวนกฎหมายล้าหลังทำงานเชิงรุก

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบ บริษัท The icon group ธุรกิจออนไลน์และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ​ ว่า​ ขณะนี้มียอดของผู้มาร้องทุกข์​ 504  ราย​ ความเสียหาย​ 118 ล้านบาท ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี โดยทาง สคบ. ได้ร่วมสอบสวนด้วยสอบถามข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุดในวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้หยุดทำงาน เมื่อวานนี้ได้สอบสวนถึง 5 ทุ่ม และ มีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์อย่างต่อเนื่องจนถึงเช้าวันนี้

 ขณะนี้ DSI ได้เข้ามาร่วมทำคดีนี้อยู่แล้ว เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อมูล เมื่อมีผู้เสียหาย 300 คนขึ้นไปและมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาทก็เข้าเกณฑ์ที่จะเป็นคดีพิเศษ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ DSI จะพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ DSI ได้เข้ามาพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์และสอบสวนข้อเท็จจริง

"ผู้เสียหายสามารถไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ได้เลยไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯหรือโทร 1599 ตลอดจนยื่นร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

ส่วนที่ สคบ.ถูกพาดพิง เรื่องเทวดา สคบ.รับสินบน เรื่องนี้มีกรอบเวลาในการตรวจสอบหรือไม่ นางสาวจิราพร กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างประสานตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะอยากได้คนนอกเข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส  คาดว่าจะสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้ในวันอังคารที่ 14 ตุลาคมนี้ 

กรณีที่ดารานักแสดงออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนกับการบริหารธุรกิจ The iCon  และ การโฆษณาก็เป็นการพูดตามสคริปต์ที่ทางบริษัทจัดให้เท่านั้น ส่งผลให้พ้นผิดได้หรือไม่ นางสาวจิราพร กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่จะชี้แจงกับประชาชน แต่ทุกคนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบข้อหาที่ชัดเจนก็จะมีการขยายผล

นางสาวจิราพร สินธุไพร

 

นางสาวจิราพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ธุรกิจประเภทนี้มีความเสียหายมาแล้วในอดีต ซึ่งจะมีการอัพเกรดตามความเปลี่ยนแปลง หน่วยงานราชการเองก็ต้องมีการอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา สคบ. ก็จะดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และในระยะยาวก็จะต้องมาพูดคุยกันเพื่อทำงานอย่างบูรณาการ และต้องกลับไปดูกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าล้าสมัยหรือไม่

“ได้หารือกับ สคบ. ว่าเรามีทั้งพ.ร.บ.ขายตรง ตลาดแบบตรง และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ถ้ามีการอนุญาตธุรกิจประเภทนี้จะต้องมีการมอนิเตอร์อยู่ตลอด  เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นลักษณะให้บริษัทเป็นผู้แจ้งงบการเงินเข้ามาทุกปี ไม่มีระบบเข้าไปตรวจในเชิงรุกจึงอยากเป็นประเด็นสำคัญที่อยากให้เข้าไปแก้ไขเพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางสาวจิราพร กล่าว