กำจัด“ปลาหมอคางดำ”เขตบางขุนเทียนได้ผลจำนวนลดลง

11 ต.ค. 2567 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2567 | 18:16 น.

ประมงกรุงเทพฯ กำจัด "ปลาหมอคางดำ" ในเขตบางขุนเทียนได้ผล จำนวนลดลง จับมือกับซีพีเอฟปล่อยปลาผู้ล่า พร้อมเดินหน้ากำจัดต่ออย่างเข้มข้น

สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เผยมาตรการจัดการ “ปลาหมอคางดำ” ที่ดำเนินการมาตั้งแต้นปีได้ผล ปลาหมอคางดำในพื้นที่ถูกจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้มาก 421 ตัน ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำหายไป และยังเดินหน้าบูรณาการกับภาคีเครือข่ายจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น ควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชน ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำ

วันนี้ (11 ต.ค.67) ประมงพื้นที่กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมปล่อยผู้ล่าลงแหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ และผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกันปล่อยปลากะพงขาวในแหล่งน้ำ 10,000  ตัว 

โดยแบ่งปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ 2 จุด คือ จุดแรก ปล่อย 5,000 ตัว ณ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล คลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน และจะปล่อยอีก 5,000 ตัว ที่วัดบางกระดี่ บริเวณคลองสนามชัย ในแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เพื่อช่วยควบคุมและตัดวงจรการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่  

                        กำจัด“ปลาหมอคางดำ”เขตบางขุนเทียนได้ผลจำนวนลดลง

นายพรพนม พรหมแก้ว ประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรมประมงและกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินมาตรการจัดการหมอคางดำในพื้นที่ บูรณาการจัดกิจกรรมปลากับภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคเอกชน ชุมชน และเกษตรกรช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และกับบ่อเลี้ยงเพาะสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยเน้นในพื้นที่เขตบางขุนเทียน จนถึงวันนี้ การจัดกิจกรรมจับปลาในเขตบางขุนเทียน สามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้ว 421 ตัน 

หลังจากนี้ กรมประมงยังมุ่งจัดการปัญหาอย่างเข้มข้น พร้อมกับติดตามสำรวจปริมาณปลาในแหล่งน้ำ เพื่อหาแนวทางการจัดการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นสร้างการรับรู้และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการนำมาใช้ประโยชน์ และบูรณาการกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ช่วยกันจัดการปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบและครบวงจรมากขึ้น  

“ปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตบางขุนเทียนลดลง หลังจากมีการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่กำจัดอย่างจริงจัง วันนี้ ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้การสนับสนุนปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้ว  ต่อจากนี้เขตบางขุนเทียนยังต้องช่วยกันกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำอย่างเข้มข้นอีก เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมปลาหมอคางดำได้” นายพรพนม กล่าว 

                    กำจัด“ปลาหมอคางดำ”เขตบางขุนเทียนได้ผลจำนวนลดลง

สถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมาก อยู่ในเขตบางขุนเทียน เพราะมีลำคลองเชื่อมต่อกับสมุทรสาคร และเป็นแหล่งที่มีการเพาะเลี้ยงกุ้งและปลาแบบกึ่งธรรมชาติคลอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ 

กรมประมงได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อย่าง ซีพีเอฟช่วยรับซื้อปลาที่จับได้ทำปลาป่น สนับสนุนปลาผู้ล่า ร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินทำน้ำหมักชีวภาพ และกรุงเทพมหานครที่จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคปลาหมอคางดำช่วยสร้างการรับรู้และช่วยกันกำจัดให้ปลาหมอคางดำลดลงอย่างเป็นรูปธรรม

                กำจัด“ปลาหมอคางดำ”เขตบางขุนเทียนได้ผลจำนวนลดลง

หลังจากนี้ ประมงกรุงเทพมหานครยังเดินหน้ามาตรการจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น ประเมินมาตรการที่ทำอยู่และหาแนวทางที่เหมาะกับพื้นที่ รวมทั้งหาวิธีใช้ประโยชน์  เช่น การพัฒนาเมนูอาหาร การหมักปลาร้า น้ำหมักชีวภาพ 

ขณะเดียวกัน ประมงกรุงเทพมหานครกำลังเตรียมหาวิธีการที่จะจัดการปลาหมอคางดำที่อยู่ในพื้นที่ หรือ บ่อรกร้างตามแนวทางของกรมประมง รวมทั้งขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดูแลคุณภาพน้ำของลำคลอง ซึ่งจะช่วยให้ปลาพื้นถิ่นกลับมาอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

นายพานทอง ชิวค้า ผู้นำเกษตรกรเลี้ยงปลาและกุ้งในแสมดำ กล่าวว่า การปล่อยปลาผู้ล่าในวันนี้และมาตรการจัดการปลาหมอคางดำของกรมประมงมีส่วนช่วยเกษตรกร เพราะปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ได้เร็วมากจึงต้องเร่งช่วยกันกำจัด

ในกลุ่มเกษตรกรเองมีการรณรงค์จับปลาหมอคางดำออกจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งตอนนี้ราคารับซื้อในตอนนี้ระดับกิโลกรัมละ 15 บาทจูงใจเกษตกรให้ช่วยกันจับ  จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยขยายเวลาเรื่องราคารับซื้อออกไปอีก  

                     กำจัด“ปลาหมอคางดำ”เขตบางขุนเทียนได้ผลจำนวนลดลง

ด้าน นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า 2 เดือนที่บริษัทได้สนับสนุนและร่วมมือกับกรมประมง สำนักงานพัฒนาที่ดิน กรมราชทัณฑ์ สถาบันการศึกษา ชุมชน และเกษตรกรดำเนิน 5 โครงการจัดการปลาหมอคางดำ 

โดยเน้นการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำผ่านการรับซื้อทำปลาป่นใกล้ถึงเป้าหมาย 2 ล้านตัน สนับสนุนกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” แล้ว 53 ครั้งสามารถจับปลาหมอคางดำได้ 30,000 กิโลกรัม

และสนับสนุนปลาผู้ล่ารวมแล้ว 100,000 ตัว พร้อมร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์และสถาบันการศึกษาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นน้ำปลา และเมนูอาหารต่างๆ ส่งเสริมการบริโภคเพื่อกำจัดปลาชนิดนี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน