บทสรุปทวิภาคี ไทย กับชาติมหาอำนาจ สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ บนเวทีอาเซียน

11 ต.ค. 2567 | 06:00 น.
888

บทสรุปการหารือทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลไทย กับชาติมหาอำนาจ สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย บนเวทีอาเซียน สปป.ลาว วันที่สอง 10 ตุลาคม 2567 เช็คข้อมูลรายละเอียดแบบเจาะลึก รวมไว้ที่นี่ครบทุกประเด็น

การเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2567 ของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” และคณะ

ฐานเศรษฐกิจสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับการหารือ “ทวิภาคี” ของนายกฯ กับผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ 3 ชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และยังหารือกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย รวมถึงองค์กรระดับโลก ในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45

 

ทวิภาคี ไทย-เกาหลีใต้

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยไทยและเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และยินดีที่มีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่าย โดยตั้งเป้าหมายสรุปการเจรจาภายในปลายปี 2568 

ทั้งนี้ไทยและเกาหลีใต้ มีโครงการลงทุนร่วมกันหลายโครงการ เช่น โครงการของบริษัท Hyundai ที่จะลงทุนตั้งฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและสันดาปในไทย จะช่วยดึงดูดบริษัทรายย่อยจากเกาหลีใต้ให้มาลงทุนเพิ่มเติมในไทย โดยไทยพร้อมสำหรับการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริด (HEV) นักลงทุนเกาหลีใต้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้และเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายกฯ กล่าวถึงอุตสาหกรรมคอนเทนต์และซอฟต์พาวเวอร์ว่า รัฐบาลกำลังจัดตั้งหน่วยงาน Thailand Creative Culture Agency (THACCA) โดยหวังที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของ KOCCA ของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายยุน ซ็อก ย็อล ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี

 

นอกจากนี้นายกฯ ยังชื่นชมความก้าวหน้าด้านพลังงานสะอาดและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการการลดภาวะโลกร้อน มุ่งสานต่อโครงการความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ไทยสนใจที่จะมีความร่วมมือกับเกาหลีใต้ในด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยอาจเริ่มจากการศึกษาเทคโนโลยี Small Modular Reactor (SMR) และแนวทางการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนก่อน

ทวิภาคี ไทย-สหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนายกฯ ยืนยันเจตนาของรัฐบาลไทย ที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของทั้งสองประเทศที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประชาชน เช่น เรื่องยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ 

ส่วนความร่วมมือด้านความมั่นคง ประเทศไทยมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป ในความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศโดยเฉพาะการฝึกร่วม เช่น คอบร้าโกลด์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันทางการทหารและการศึกษา รวมถึงการแก้ปัญหายาเสพติด และพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯในการเพิ่มเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับองค์กรค้ายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการหลอกลวงทางออนไลน์

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยและสหรัฐฯ จะร่วมกันส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้มากขึ้นรวมทั้งความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ โดยประเทศไทยจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในการเพิ่มเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญใหม่ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยพิบัติ

ขณะเดียวกันไทย-สหรัฐฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับภูมิภาค กับสหรัฐฯ ในหลายมิติ โดยประเทศไทยพร้อมเป็นสะพานเชื่อม (Bridge Builder) เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก และพร้อมให้การสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสันติภาพและยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ในขณะนี้

 

นายกรัฐมนตรี เข้าหารือกับ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ทวิภาคี ไทย-จีน

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายกฯ เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมประกาศให้ปี 2568 เป็นปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต หรือ Golden Year of Friendship เนื่องจากจะครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน 

โดยไทยพร้อมร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และร่วมกันแก้ปัญหาในภูมิภาค และหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีจีน และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ที่ประเทศไทยในปี 2568 

ด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม นายกฯ หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะจัดการประชุม JC เศรษฐกิจไทย - จีน ครั้งที่ 7 ได้ในเร็ววัน และเห็นว่า ทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมการค้าและการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร และหวังร่วมมือกับจีนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และขอเชิญบริษัทที่มีศักยภาพของจีนมาลงทุนสาขาต่าง ๆ ในไทย

ทั้งนี้ไทยยังพร้อมร่วมมือกับจีนในการเร่งปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและธุรกิจสีเทา และขบวนการ call center ทั้งในกรอบทวิภาคีและกรอบภูมิภาค พร้อมกันนี้นายกฯจีน ยังได้ตอบรับคำขอของไทยและชะลอการปล่อยน้ำลงแม่น้ำล้านช้าง มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

ทวิภาคี ไทย-มาเลเซีย

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจเชื่อมั่นในศักยภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทั้งการเชื่อมต่อการพัฒนาชายแดน ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งสองประเทศชื่นชมการสร้างสะพานเชื่อม สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัง รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการค้าขาย ยกระดับศักยภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศมากขึ้น 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังชื่นชมศักยภาพในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย รวมทั้งชื่นชมคนไทยและแรงงานไทยกว่า 150,000 คน ที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมาเลเซียด้วย

นอกจากนี้ทั้งสองประเทศ ยังเห็นพ้องร่วมกันในการผลักดันการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และไทยขอบคุณมาเลเซียที่สนับสนุนโครงการ "6 ประเทศ 1 จุดหมาย" โดยจะมีการหารือรายละเอียดการดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

 

หารือ ไทย-แคนาดา

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 โดยนายกฯ กล่าวถึงศักยภาพในความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศแคนาดา โดยเฉพาะด้านการศึกษาและอาชีวะ รวมทั้งไทยยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับแคนาดา 

ขณะที่การส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการเดินทางให้มากขึ้น และยังมุ่งหวังว่าการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียนและแคนาดาที่ดำเนินอยู่จะเป็นไปด้วยดี  

ด้านนายกรัฐมนตรีแคนาดา ชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างยิ่ง โดยประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นชาติแรกในอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมด้านการศึกษา และด้านอื่น ๆ อีกต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา

 

หารือ ไทย-WEF

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) โดยผู้ก่อตั้ง WEF เชิญนายกฯไปเมืองดาวอส เพื่อประชาสัมพันธ์และแสดงถึงศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ WEF ชื่นชมประเทศไทย และเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีโอกาสจำนวนมากทั้งนี้ โดย WEF มีโครงการจำนวนมาก ทั่วโลก ทั้งด้านการเกษตร ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะได้ 

อย่างไรก็ตามหากนายกฯ เดินทางเยือนเมืองดาวอส เป็นโอกาสให้ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์ที่ประเทศไทย โดยประเทศไทยมีศักยภาพและอิทธิพลในหลายหลายด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันออกแบบโครงการได้ โดยนายกฯจะได้นำเรื่องการเยือนไปพิจารณา

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับ นาย Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)