เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

07 ต.ค. 2567 | 19:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 22:12 น.
4.0 k

กยท.เรียกบิ๊กยางพาราหารือด่วน หลังอียูส่อเลื่อนบังคับใช้ EUDR ออกไปอีก 1 ปี ยันไม่ได้กดราคา เป็นการซื้อขายยางปกติ จะไม่มีบวกค่าพรีเมียมให้สวนยาง 3-5 บาท/กก. กยท.ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจกับเกษตรกร แต่เมื่อไรจะใช้ยาง EUDR ก็พร้อมจ่ายค่าพรีเมียม

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้แจ้งข่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการส่งเสริมการสนับสนุนดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ได้เสนอขยายระยะเวลาในการเตรียมปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก ทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกไปอีก 12 เดือนเพื่อให้ทุกประเทศสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้นบังคับใช้

ส่งผลให้เริ่มมีการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR กับบริษัทหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และวิสาหกิจขนาดย่อมหรือผู้ประกอบการรายย่อย ในวันที่ 30 มิถุนายน 2569 ต้องเลื่อนออกไป 1 ปี

 

เพิก เลิศวังพง

 

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย(ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลลัพธ์จากการประกาศของอียู ที่ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง ถูกกดราคารับซื้อยางอียูดีอาร์ลง 5.50 บาท/กิโลกรัม(dd.)  โดยหลังการประกาศเลื่อนเพียงวันเดียวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ราคายางพาราลดลงมาเหลือที่ 83.69 บาท/กก. ทั้งๆที่ราคายางที่กำหนดไม่ได้อยู่ต่างประเทศ แต่อยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว ถือว่าเป็นการเอาเปรียบชาวสวนยาง จึงให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปดูว่าจะเอาผิดบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างไร

 

“วันนี้ (7 ต.ค.67) ได้มอบหมายให้นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ไปหารือกับผู้ส่งออกถึงแนวโน้มทิศทางการส่งออกในโค้งสุดท้ายของปีเป็นอย่างไร ความต้องการใช้ยางมากน้อยแค่ไหน และอนาคตยางอียูดีอาร์จะเป็นอย่างไร ทำไมราคาซื้อขายยางในกลุ่มอียูดีอาร์ถูกกดราคารับซื้อ ตื่นตระหนกอะไร อียูเลื่อนทุกคนก็รู้อยู่แล้ว แต่ทำไมต้องฉวยโอกาสทุบราคารับซื้อทันที แทนที่จะไปบอกนักลงทุน กลับปั่นหุ้นขึ้นไป พอข่าวออกนักลงทุนก็แตกกระเจิงทำให้หุ้นตกลงมา แล้วจะมาเก็บเงินจากเกษตรกร ด้วยการลงลดราคาวัตถุดิบเพื่อไปชดเชยการขาดทุนของบริษัท แบบนี้เอาเปรียบกันเกินไปหรือไม่ ต่อไปถ้าเล่นกันแบบนี้อาจจะต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น เช่น การจำกัดการส่งออกยางพารา เป็นต้น”

 

เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

 

ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยผลจากการหารือกับผู้ประกอบกิจการยางร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงาน EUDR ว่า การขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎระเบียบนี้ เป็นการประกาศเลื่อน ไม่ใช่การประกาศยกเลิก ทิศทางในอนาคตยังคงต้องเดินหน้าตามกฎระเบียบดังกล่าว ขอให้ชาวสวนยางอย่าตระหนกตกใจ แต่ให้ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาปรับปรุงข้อมูลระบบให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ยางพาราไทยมีความพร้อม 100% ในการส่งออกสู่ตลาดโลกตามมาตรฐานสากล”

เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

นอกจากนี้ ผู้แทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมยังเห็นชอบราคากลางเปิดตลาดที่ กยท. กำหนด โดยถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผล และยังเสนอให้ กยท. เปิดซื้อ-ขายยาง EUDR ทุกวัน ซึ่งจะถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนวงการยางพารา โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ส่งออกที่ตกลงซื้อขายน้ำยางสด EUDR กับ กยท. เดือนละ 5 พันตัน กล่าวว่า  ราคาปกติที่ กยท.ประกาศ สมมติราคายางตลาดทั่วไปราคาอยู่ 80 บาท/กก. ถ้าราคายางอียูดีอาร์ จะบวกค่าพรีเมียมให้อีก 5 บาท เป็น 85 บาท/กก. ซึ่งจากที่อียูดีอาร์เลื่อนออกไป ก็ไม่ซื้อยางอียูดีอาร์ ก็เป็นการซื้อยางปกติที่ราคา 80 บาท/กก.  

เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

 

"ในที่ประชุมคุณสุขทัศน์ ก็ถามว่าราคายางอียูดีอาร์ยุติธรรมหรือไม่ มีอะไรผิดพลาดหรือไม่  ซึ่งในส่วนของบริษัทที่รับซื้อน้ำยางสด ที่ประกาศ 79 บาท/กก. ในพื้นที่จะบวกลบ 50 สตางค์ถึง 1 บาท ซึ่งเป็นภาวการณ์ซื้อขายปกติ ถ้าพื้นที่ไหนฝนตกยางมีน้อยก็อาจจะบวกพิเศษให้ แต่ถ้าพื้นที่ไหนฝนไม่ตก มีปริมาณยางมาก ก็จะขอปรับลดราคา เป็นต้น ดังนั้นเกณฑ์ราคาที่ กยท.ประกาศเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติที่ผู้ค้าก็จะใช้เกณฑ์นี้ในการซื้อขาย"

 

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

“ถามว่ากระทบอะไรหรือไม่ จากอียูดีอาร์เลื่อนบังคับใช้ ก็ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบในการลงทุน อาทิ จ้างบุคลากร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่ว่าเป็นเลื่อน ไม่ใช่ยกเลิก ซึ่งตรงนี้ลูกค้าก็สามารถพูดคุยกันได้ มีคำสั่งซื้อมา เตรียมของไว้แล้ว ไม่เบี้ยว ก็มีการรับซื้อปกติ ก็คือราคาอียูดีอาร์ บวกค่าพรีเมียมปกติ แต่ลูกค้าที่สั่งมาแล้วบริษัทยังไม่ได้ซื้อเป็นการซื้อขายยางตลาดทั่วไปเหมือนเดิม ไม่ใช่ยางอียูดีอาร์ ส่วน กยท. ก็ต้องมีหน้าที่ไปชี้แจงกับชาวสวนยางว่าเลื่อนออกไปอีก 1 ปี ดังนั้นค่าพรีเมียมที่เคยจ่าย 3-5 บาท/กิโลกรัม ก็ไม่มีให้เป็นการขายยางปกติ แต่ถ้าเมื่อไรจะใช้ยางอียูดีอาร์ เราก็พร้อมที่จะจ่ายค่าพรีเมียมให้”

เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

นายวรเทพ กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการทุบราคา ส่วนข้อดีของที่อียูเลื่อนออกไป กยท.จะได้มีเวลาปรับปรุงระบบ พัฒนาภายในอะไรที่ยังไม่เสร็จก็รีบทำให้แล้วเสร็จ แต่ที่จะมีผลเสียกับประเทศไทยคือ ประเทศอื่นที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะทำอียูดีอาร์ก็มีเวลาที่จะทำให้พร้อม  ถึงเวลานั้นจะมีของขายที่เป็นอียูดีอาร์มาแข่งกับเราคำสั่งซื้อก็จะกระจายออกไปอาจจะไม่ได้เปรียบมากนัก ต่างจากในปัจจุบันที่มีประเทศไทยประเทศเดียวที่ทำได้ในภูมิภาคนี้

 

นายกรกฎ กิตติพล

สอดคล้องกับนายกรกฎ กิตติพล เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ในเรื่องการกดราคายางพารา ซึ่งอยากจะชี้แจงว่า ทางผู้ประกอบไม่มีการทุบราคา แต่อาจจะเกิดจากความไม่แน่ใจในสถานการณ์ตลาด เลยหยุดซื้อรอดูสถานการณ์ และก็ไม่แน่ใจว่ามีการซื้อยางลงมาถึง 5 บาท อาจจะลงราคาจริงแต่อาจซื้อไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ demand และ supply ณ ตอนนั้น

เลื่อนบังคับใช้ EUDR พ่นพิษ สวนยางโอด อดค่าพรีเมียม 3-5 บาท/กิโลกรัม

“ยาง EUDR หรือ NON- EUDR”  คือยางตัวเดียวกัน แตกต่างกันที่มาตรฐาน วันนี้ถ้าอียู เลื่อนการซื้อออกไป 1 ปี ผู้ซื้อก็ยังต้องการยางอยู่ดี แต่ยางที่มีมาตรฐานอาจไม่สำคัญและไม่มีส่วนต่างราคาให้จึงอยาก กยท. รักษาตลาดเอาไว้ให้ดี ปรับปรุงให้ดี ระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น จนถึงวันที่มีความต้องการซื้อ ยาง EUDR อีกครั้ง ซึ่งจะได้ราคาดีอย่างแน่นอน