แนะผนึกกำลัง "อาเซียน" ฝ่าสมรภูมิความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

07 ต.ค. 2567 | 16:02 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 16:02 น.

บิ๊กสภาธุรกิจ สหภาพยุโรป-อาเซียน แนะผนึกกำลัง "อาเซียน" ฝ่าสมรภูมิความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ชี้ต้องจับตาสถานการณ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เสี่ยงที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลาง

นายคริส ฮัมฟรีย์ กรรมการบริหารสภาธุรกิจ สหภาพยุโรป-อาเซียน เปิดเผยในงานสัมมนา “ASEAN Economic Outlook 2025 : The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity”  ช่วงเสวนา หัวข้อ Geopolitics in the Modern wOrld : Powers, Resources and Global Trade Wars จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งปัญหาอิสราเอลในตะวันออกกลาง การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ เป็นความเสี่ยงของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเกิดการรวมกลุ่มและความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ โดยเป็นไปตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเอาไว้ เรื่องความจำเป็นในการรวมกลุ่มของอาเซียน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวผ่านช่วงเวลาผันผวนและอันตรายของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เกิดขึ้น
 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ยังคงน่าหวาดหวั่นที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลาง หากอิสราเอลต้องเจอกับการปะทะที่รุนแรงขึ้น ย่อมกระทบราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปสูงทะลุเพดาน ขณะที่การเดินเรือก็อาจต้องชะงัก

แนะผนึกกำลัง "อาเซียน" ฝ่าสมรภูมความเสี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

ขณะที่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือกระจายการผลิตในซัพพลายเชนไปมากแค่ไหนก็ย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันในภูมิภาคจะสร้างความเข้มแข็งและลดความเสี่ยงได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งเกิดขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง ก็อาจทำให้เห็นบริษัทใหญ่เลือกที่จะยับยั้งการขยายการลงทุนใหม่ ซึ่งจะต้องเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวได้ลดลง

นายคริส ฮัมฟรีย์ กล่าวอีกว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องมีการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน ลดอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการเพิ่มการค้าขายเพื่อลดการเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงคือ นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมซึ่งอาจทำให้การแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนในด้านการศึกษาเพื่อเตรียมรับกับตลาดแรงงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน