GULF ชี้โอกาสลงทุน “อาเซียน” ลุยพลังงานสะอาด-ดาต้า-คลาวด์

07 ต.ค. 2567 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 20:33 น.

GULF ชี้โอกาสลงทุน “อาเซียน” ระบุไทยเด่นบริการ -สาธารณสุข ลุยพลังงานสะอาด-ดาต้า-คลาวด์ เทรนด์ปฏิวัติอุตสาหกรรม

นายสมิทธ์ พนมยงค์ Executive officer บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวเรื่อง “investment opportunities in ASEAN” ในงานสัมนา “ASEAN Economic Outlook 2025 : The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity”  จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ทั้งกลุ่มอาเซียน จีดีพีเติบโตเฉลี่ย 5% อย่างไรก็ตาม จะพบว่าประเทศไทย และสิงคโปร์ จะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่เติบโตช้า เฉลี่ย 2% ส่วนเพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เฉลี่ย 7% 

 

นายสมิทธ์ พนมยงค์ Executive officer บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าประเทศไทยยังมีโอกาสอยู่หรือไม่ ขอเรียนว่า ไทยมีโอกาสซึ่งไทยเก่งในธุรกิจบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องพัฒนาฝีมือ ทั้งนี้พบว่า ขณะที่โลกพัฒนาไปสู่ AI คนกลัวตกงาน หรือกลัวAIแย่งงาน แต่ในการบริการนั้น AI ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันจุดนี้ 

นอกจากนี้ การบริการยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ บริการสาธารณสุข รวมทั้งบริการทางการเงินด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามีธนาคารต่างประเทศ เข้ามาให้บริการในประเทศไทยหลายสำนัก แต่หลายแห่งสู้คนไทยไม่ได้ จนต้องปิดและขายกิจการไป

 

ทั้งนี้ คนไทยยังเก่งในด้านห้างสรรพสินค้า เพราะเกือบ 10 ปี ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทยอยปิดตัวลง เช่น สหรัฐอเมริกา ห้างสรรพสินค้าปิดตัว เพราะโดนการขายออนไลน์แย่งพื้นที่ ขณะที่ห้างสรรพสินค้าในไทยเติบโต และขยายการธุรกิจไปยังต่างประเทศ ฉะนั้น จึงเชื่อว่าไทยมีโอกาสในการลงทุน

 

ขณะที่ในธุรกิจพลังงานนั้น ประเทศไทยจะต้องเดินทางไปยังพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่า นอกจากประเทศลาวแล้ว ไทยใช้พลังงานสะอาดค่อนข้างสูง ซึ่งด้านการลงทุนจะต้องลงทุนเพิ่ม โดยปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานสะอาด 15-20% ของระบบ 80% ยังใช้เชื้อเพลิงอยู่ 

นายสมิทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันของโลก ที่ภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรง หรือภาวะโลกเดือด ฉะนั้น การลดการปล่อยคาร์บอน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะฟื้นโลก หากดูสัดส่วนการใช้พลังงานในภูมิภาคอาเซียน จะพบว่า ประเทศไทยมีพลังงานสะอาด 20% แต่เพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม มีสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเกิน 50% ของพลังงานทั้งหมด 

 

“ประเทศนี้ไม่สามารถอยู่เช่นนี้ได้ จะถูกแรงกดดันจากกฎของโลก ทำให้ปรับตัว และเขาต้องเพิ่มการลงทุนมหาศาล ประเทศไทยก็เช่นกัน ในอนาคตทางภาครัฐจะผลักดันให้เราเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด“ 

 

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อสงสัยว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเยอะ จะเอื้อนายทุนหรือไม่ ยอมรับว่า ไทยมีพลังงานผลิต 5.4 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานของประเทศสูงสุด 3.6 หมื่นเมกะวัตต์ แต่เรามีพลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกเพียง 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ หากนำการผลิตพลังงาน มาลบกับพลังงานสะอาด จะเหลือ 3.8 หมื่นเมกะวัตต์ เหลือปีละไม่มาก

 

สำหรับการลงทุนในพลังงานสะอาด ไม่ได้ลงทุนเฉพาะพลังงานสะอาดเพียงอย่างเดียว จะต้องลงทุนในการกักเก็บแบตเตอรี่ด้วย เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ซึ่งไทยมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่ผลิตได้เพียง 70-80% ของความต้องการใช้ในปัจจุบัน และต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกว่า 20% และการนำเข้ามาในสภาวะที่โลกอยู่ในภาวะสงคราม ราคาน้ำมันก็ผันผวน และปรับราคาสูงขึ้น ฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของราคาน้ำมัน ต้องติดตั้งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ การลงทุนในโลกดิจิทัล และTelecom มีความสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และ Telecom มีความสำคัญกับการเชื่อมโยง และการเชื่อมต่อ ซึ่งหากมีการลงทุน เพิ่มความรวดเร็วใน Telecom ก็ยังมีความสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 

 

และสุดท้าย คือ ดาต้า และคลาวด์ ซึ่งเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ AI โดยการลงทุนในคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นพื้นฐานการพัฒนา AI ทั้งนี้ GULF นอกจากพื้นฐานความเป็นพลังงานแล้ว ยังขยายการลงทุนไปในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมด้วย เพราะมองว่าเป็นปัจจัยในการปฏิวัติอุตสาหกรรม