ธปท.รับ"เข้าดูแล-จับตาเงินบาทใกล้ชิด"ยันบาทไม่ได้แข็งสุด

30 ก.ย. 2567 | 15:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2567 | 16:24 น.

ธปท.ยอมรับ พร้อมดูแล-จับตาเงินบาทใกล้ชิด หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ยันเงินบาทไม่ได้แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ระบุส่งออกบางกลุ่มรับผลกระทบ แต่ไม่มีผลนักท่องเที่ยว “มาเลเซีย-จีน”

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น อาจจะมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาด

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเงินเยน มีโอกาสที่ญี่ปุ่นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และล่าสุด ก็มีการแข็งค่าของเงินหยวนด้วย ฉะนั้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในสกุลเงินภูมิภาค ถ้ามองว่าเงินเยน เงินหยวนแข็งค่า ก็ทำให้สกุลเงินในภูมิภาคแข็งตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ค่าเงินของมาเลเซียยังแข็งกว่าประเทศไทย ขณะนี้แข็งค่าขึ้นไป 10% ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2-3 ยังถือว่าอยู่ในกลุ่มที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาท ยังมาจากปัจจัยเฉพาะที่รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ความชัดเจนในการดำเนินนโยบายกระต้นเศรษฐกิจ ทิศทางตลาดหุ้นปรับดีขึ้น และราคาทองคำ ฉะนั้น จึงเป็นทั้งปัจจัยของโลกที่เป็นไปทั้งภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ธปท. ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และเข้าไปดูแลในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนแรงเพื่อลดผลกระทบ

“เราดูแลค่าเงินอยู่แล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่เราเข้าไปดู คือ การทำงานของตลาด เพราะเมื่อข้างนอกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ทำให้นักลงทุนปรับราคา จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการปรับราคาเห็นค่อนข้างเยอะ และค่อนข้างแรง จึงมีการผันผวนสูง  ต้องดูการปรับเปลี่ยนเรื่องราคา ธุรกรรม ยังทำให้ดีมานด์ ซัพพลายยังทำงานอยู่ปกติหรือไม่ ที่ผ่านมาเราก็ดูแลอยู่”

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทประเทศไทยนั้น อยากให้มอง 2 ส่วน คือ เป็นเรื่อง conversion หากราคาเท่าเดิม แต่เมื่อแปลงราคากลับมา ผู้ส่งออกจะได้เม็ดเงินที่น้อยลง ส่วนนั้นคงได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับบางธุรกิจ ซึ่งหากเป็นผู้ส่งออกที่นำเข้าสินค้าเข้ามาจำนวนมากด้วย เขาอาจจะเสียประโยชน์จากค่าเงินที่แข็ง แต่ในด้านนำเข้าก็จะถูกลง มองว่ากลุ่มนี้มองว่าผลกระทบน้อย แต่กลุ่มที่นำเข้าเข้ามาจำนวนน้อย เช่น กลุ่มเกษตร ก็จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า หากมองความสามารถในการส่งออก ที่ผ่านมา เมื่อบาทแข็งค่า เมื่อดูสถิติไม่ได้กระทบจำนวนการส่งออกไทยขนาดนั้น เราส่งออกได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของผู้ค้ามากกว่า ฉะนั้น หากดูตามข้อมูลช่วงที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปตามอุปสงค์ของผู้ค้ามากกว่า แต่แน่นอนรายได้ของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ

ส่วนกรณีการท่องเที่ยวนั้น มองว่าอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก ยกตัวอย่าง นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวช่วงวันหยุดยาว ก็ตั้งใจจะมาอยู่แล้ว และมีการวางจองที่พัก การเดินทางไว้แล้ว แต่ตอนมาอาจจะมีการปรับการใช้จ่ายบ้าง อย่างไรก็ตาม หากมองสัดส่วนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน โดยหากมองในเรื่องค่าเงินนั้น ค่าเงินบาทเราก็ไม่ได้จะแพงไปกว่าเขา

“ไตรมาส 4 เป็นฤดูกาลที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบปี เพราะเราส่งออกได้เยอะ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะที่สุดในรอบปี ฉะนั้น เป็นอะไรที่นักท่องเที่ยวพอจะรู้ว่าเทรนด์ของค่าเงินจะเป็นเช่นนี้ และการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่อยากมาไทยก็คงจะมาเช่นเดิม แต่จะปรับในแง่ของรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในส่วนนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะค่าเงินเขาก็แข็งเหมือนกัน”