คชก. เร่งเคลียร์หนี้-ปิดบัญชี ปี 67 12 หน่วยงานรัฐ ยังค้าง 4 พันล้าน

27 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

คชก. เร่งปิดบัญชีช่วยเหลือเกษตรกร บี้ 12 หน่วยงานรัฐ เร่งเคลียร์หนี้กว่า 4 พันล้าน เตรียมชง รมว.คลังเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อเดินหน้าต่อ หวังนำเงินมาหมุนช่วยเกษตรกรแก้สินค้าล้นตลาด ห่วงปี 68 งบไม่พอ หลังเพิ่มสินค้าเป้าหมายเป็น 10 กลุ่ม สนองนโยบายรัฐบาลใหม่

จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ( 30 ส.ค.67) ที่มีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญให้ดำเนินการเร่งรัดปิดบัญชี 64 โครงการ 12 หน่วยงาน ที่ยังติดค้างรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

คชก. เร่งเคลียร์หนี้-ปิดบัญชี ปี 67 12 หน่วยงานรัฐ ยังค้าง 4 พันล้าน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ คบท. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในที่ประชุมได้มีการรายงานลูกหนี้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจาก 3 กระทรวงใน 12 หน่วยงาน รวม 64 โครงการ มีต้นเงินค้าง 4,227.786 ล้านบาท แยกเป็น มูลหนี้ที่คาดว่า จะสามารถเรียกเก็บได้ 63.137 ล้านบาท และมูลหนี้ที่คาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บได้ 4,166.302 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังมีโครงการเงินจ่ายขาด จำนวน 8 หน่วยงาน 34 โครงการ รอหน่วยงานส่งสรุปรายงาน การรับ-จ่ายเงิน และ/หรือ ส่งคืนเงินเหลือจ่าย 4,019.961 ล้านบาท แล้วให้จัดทำข้อมูลประมาณการส่งคืนเงินเหลือจ่าย และ/หรือ ส่งสรุปรายงานการรับ -จ่ายเงิน ของ 5 หน่วยงาน 26 โครงการ ยอดคงค้าง 3,003.018 ล้านบาท โดยแยกเป็น คาดว่าจะส่งคืนเงินเหลือจ่ายได้ (ของอ.ต.ก.) 42.817 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งสรุปรายงานการรับ - จ่ายเงิน 2,960.201 ล้านบาท

 

 

พร้อมมอบหมาย ฝ่ายเลขานุการฯ สรุปปัญหาและสาเหตุที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ ตามโครงการเงินทุนหมุนเวียนได้ โดยเพิ่มเติมรายละเอียดลูกหนี้โครงการเงินทุนหมุนเวียน ดังนี้ 1.จัดกลุ่มลูกหนี้ และ 2. จัดประเภทสถานะ/การดำเนินคดีของลูกหนี้แต่ละกลุ่มให้เตรียมนำเสนอนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา โครงการที่ค้างส่งคืนเงินและปิดบัญชีโครงการ และเป็นแนวทางในการกำกับการจัดการและการบริหาร เงินกองทุนต่อไป

 

คชก. เร่งเคลียร์หนี้-ปิดบัญชี ปี 67 12 หน่วยงานรัฐ ยังค้าง 4 พันล้าน

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ผลจากการที่หลายหน่วยงานยังไม่ชำระคืนกองทุนรวมฯ ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บหนี้ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงปีต่อไป ควรกำหนดแผนบริหารความเสี่ยงที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากเป้าหมายการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านกิจกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้า ทั้งการ รับซื้อ-กระจายผลผลิต และการจัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นการบริโภค ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

ผลการอนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือสินค้าเกษตร ปีงบประมาณ 2567

 

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 ทางคณะกรรมการฯได้นำเสนอกรอบการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 1,600 ล้านบาท เท่ากับปี 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านการตลาดสินค้าเกษตร พัฒนาโครงสร้างการผลิต และการปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตร ต่อคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำมาจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีงบ ประมาณ 2568 เสนอ คบท. และกระทรวงการคลัง พิจารณาอนุมัติ ตามลำดับต่อไป

 

ทั้งนี้ได้เพิ่มเติมสินค้าเป้าหมายในกรอบการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากเดิม 9 กลุ่ม เป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ 1. พืชไร่ 2. พืชนํ้ามัน 3. พืชหัว 4. ผลไม้ 5. ปศุสัตว์ 6. ประมง 7. เกลือ 8. ดอกไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ 9. ปัจจัยการผลิต (ใหม่) 10. สินค้าจำเป็นเร่งด่วน และให้ทบทวนแผนปฏิบัติการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2566-2570 และแผนปฏิบัติการกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีบัญชี 2568 ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนงานกับนโยบายรัฐบาล ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และมุ่งเน้นการตรวจสอบติดตามการชำระหนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

หน้า9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567