“ดีพร้อม”อัด 1.7 พันล.ยกระดับ SMEs ผนึกโตโยต้าปั้นเศรษฐกิจฐานราก

20 ก.ย. 2567 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 10:23 น.

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) อัดงบ 1,700 ล้าน ลุยยกระดับเอสเอ็มอี พร้อมผนึกโตโยต้าปั้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส และยกระดับรายได้ชุมชน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอีกกว่า 1,000 ล้าน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM / ดีพร้อม) หนึ่งหน่วยงานสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) รวมถึงยกระดับธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2568 ทางกรมฯได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านบาท จากปี 2567 ได้รับงบฯ 1,200 ล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณใหม่ 2568 ที่จะมาถึงนี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้แข่งขันในประเทศและตลาดโลกได้ โดยปีงบฯ 2568 จะมุ่งเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรื่องดังกล่าว
  
ด้านแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย จะดำเนินการผ่านโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ พัฒนาองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมและสัมมนา เช่น การจัดตั้งธุรกิจ การขาย การบริหารธุรกิจการตลาดการเงินและบัญชี ฯลฯ ,ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการด้านการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต มาตรฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) , เชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม และการจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ,การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ,การให้บริการเครื่องจักรผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) และการทดสอบตลาดผ่านงานอีเวนต์

“ดีพร้อม”อัด 1.7 พันล.ยกระดับ SMEs ผนึกโตโยต้าปั้นเศรษฐกิจฐานราก
 
ขณะเดียวกันทางกรมฯยังได้ดำเนินการร่วมกับโตโยต้า เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจร ให้แนวคิดและองค์ความรู้ของโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เช่น พื้นฐานระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) การปรับปรุงธุรกิจตามแนวทาง รู้ เห็น เป็น ใจ การหาความสูญเปล่า (MUDA) ในธุรกิจ ให้เป็นที่รู้จักแก่วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้ดียิ่งขึ้น
 
โดยเฟ้นหาสุดยอดธุรกิจชุมชน ผ่านกิจกรรมการอบรมและประกวดแผนการปรับปรุงธุรกิจ ทุนลด กำไรเพิ่ม ด้วยแนวทางการปรับปรุงแบบโตโยต้า รวมถึงยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother พี่ช่วยน้อง ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ด้วยระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการไคเซ็น (Kaizen) เพื่อยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจร
 

ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกมิติ ไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน โดยมองว่าหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมต้องปรับตัว จำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต