“สุริยะ” โยน คลัง ผ่าเงื่อนไขตั้งกองทุน ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า ดัน20บาทตลอดสาย

20 ก.ย. 2567 | 05:00 น.

“สุริยะ” ถกคลังศึกษาแนวคิดตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า คาดใช้งานอุดหนุน 1.6 หมื่นล้านภายใน 2 ปี เร่งผลักดันกฎหมายตั๋วร่วม-กรมราง ชงครม.ไฟเขียว ปักธง ก.ย.68 ให้บริการรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาเดียว รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” ถกคลังศึกษาแนวคิดตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า
  • คาดใช้งานอุดหนุน 1.6 หมื่นล้านภายใน 2 ปี
  • เร่งผลักดันกฎหมายตั๋วร่วม-กรมราง
  • ชงครม.ไฟเขียว ปักธง ก.ย.68 ให้บริการรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาเดียว รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นในราคาที่ถูกสามารถเข้าถึงได้ ล่าสุดได้นำร่องเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง-สายสีม่วง เชื่อมต่อระหว่างกันในอัตราค่าโดยสารราคาเดียว ถึงแม้ว่ารายได้ลดลง แต่กลับทำให้ปริมาณผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น ยืนยันกระทรวงคมนาคมยังเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถใช้รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือนกันยายน2568
 
ทั้งนี้ในระหว่างที่ดำเนินการนยโยบายดังกล่าวนั้น เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... (พ.ร.บ.กรมราง) เข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบควบคู่ไปด้วย

ส่วนแนวคิดการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชนนั้น ขณะนี้แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องการระดมทุน ซึ่งอยู่ภายใต้ของกระทรวงการคลัง หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการหารือกับกระทรวงการคลังในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม หากมีการตั้งกองทุนฯขึ้นมาเชื่อว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าซื้อกองทุนเป็นจำนวนมาก
 

“ในที่สุดแล้วการลงทุนดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มทุน เพราะกระทรวงคมนาคมยังมีแผนดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมือง (Congestion Charge) สำหรับผู้ขับรถที่เดินทางเข้าเมือง ซึ่งมีรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่แล้ว เช่น สุขุมวิท ฯลฯ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ด้วย” นายสุริยะ กล่าว 

 ทั้งนี้ในช่วงระหว่างที่รอการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าของกระทรวงการคลัง เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการนำรายได้จากกองทุนอื่นๆมาชดเชยให้แก่เอกชนตามนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายก่อน เช่น กองทุนอนุรักษ์พลังงาน,กองทุนชดเชยรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรฟม.
 
หากงบประมาณจากกองทุนเหล่านี้ไม่เพียงพอสามารถขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางได้ จากการประเมินของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี หรือภายใน 2 ปีจะใช้งบประมาณจากกองทุนเหล่านี้ประมาณ 16,000 ล้านบาท

“รฟม.ยังคงมีความกังวลหากมีการนำรายได้ชดเชยจากรฟม.เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้อาจจะกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนได้   ในเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการหารือร่วมกับรฟม.อีกครั้ง หากไม่เพียงพอสามารถนำงบประมาณงบกลางมาดำเนินการได้ ทั้งนี้กระบวนการและเงื่อนไขในการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านั้นจะขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษา รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อคืนสัมปทานฯด้วย” นายสุริยะ กล่าว

 นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านั้น เนื่องจากการตั้งกองทุนฯนี้เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว

  “สุริยะ” โยน คลัง ผ่าเงื่อนไขตั้งกองทุน ซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า ดัน20บาทตลอดสาย

ส่วนประเด็นที่นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายดำเนินการแล้วเสร็จยังมีความจำเป็นในการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนหรือไม่นั้น เรื่องนี้มองว่าเมื่อมีการเดินหน้านโยบายฯนี้จะพบว่าในทุกๆปีจะเกิดภาระในการหางบประมาณ ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องมีแนวคิดเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมืองเพิ่มเติม ซึ่งจะเข้าไปรวมอยู่ในกองทุนนี้ด้วย 
 
“การตั้งกองทุนฯและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯนั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวถึง 10-20 ปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ภาครัฐสนับสนุนเพียงอย่างเดียว เมื่อรัฐสามารถให้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้าได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว หากผู้ขับรถที่ต้องการเข้าเมืองจำเป็นต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายด้วย” นายสุริยะ กล่าว

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567