เปิดกรุเงินลงทุน"ประกันสังคม" 2.5 ล้านล้าน ผลตอบแทน 5ปีเฉลี่ย 2.72%

11 ก.ย. 2567 | 06:15 น.

กองทุนประกันสังคม นับจากจัดตั้งปี 2534 ถึงกลางปี 67 มีเงินลงทุนรวม 2.54 ล้านล้านบาท เป็นเงินสมทบ 1.6 ล้านล้านบาท เป็นเงินผลประโยชน์สะสมจากการลงทุน 9.5 แสนล้านบาท ผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปี 2.72% เทียบเงินฝากออมทรัพย์ 0.32%

สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ในอัตราเงินสมทบ 5% สำหรับผู้ประกันตน นายจ้าง และ 2.75%จากรัฐบาล ซึ่งเมื่อจัดเก็บเงินสมทบแล้ว เงินส่วนหนึ่งจะสำรองไว้จ่ายสิทธิประโยชน์ระยะสั้นเช่น กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย ว่างงาน เป็นต้น 

ส่วนที่เหลือจะส่งให้กองบริหารการลงทุนนำไปลงทุน เพื่อให้มีการเติบโตและดูแลสิทธิประโยชน์ระยะยาวในอนาคต เช่น เงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่เกษียณอายุ เงินกองทุนประกันสังคมจึงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเงินส่วนใหญ่ เป็นเงินที่เก็บสะสมไว้ เพื่อรอจ่ายเป็นเงินชราภาพเมื่อผู้ประกันตนเกษียณอายุ

ทัั้งนี้ การลงทุนของกองทุนประกันสังคมจะอยู่ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่า ด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้การลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงหรือมีความเสี่ยงตํ่าอย่างใดอย่างหนึ่งห รือหลายอย่างรวมกันไม่น้อยกว่า 60% ของเงินกองทุน

ตัวอย่างเช่น เงินฝากของธนาคารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน พันธบัตรรัฐบาล/ตั๋วเงินคลัง/พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย/พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่คํ้าประกันโดยรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน หรือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ข้างต้น

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ไม่เกินกว่า40% ของเงินกองทุน ตัวอย่างเช่น 

  • เงินฝากของธนาคารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน
  •  พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับ การคํ้าประกันโดยรัฐบาล
  •  หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  • หน่วยลงทุน หรือหน่วยทรัสต์ ที่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน/อสังหา ริมทรัพย์ หรือกิจการเงินร่วมลงทุน
  • กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุน ในหลักทรัพย์ข้างต้น

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศให้เป็นไปตามสัดส่วนที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กำหนดที่ 35.3%  

ตั้งแต่ปี 2534 จนถึง 30 มิถุนายน 2567 เงินลงทุนรวมของกองทุนประกันสังคม มูลค่ารวม 2,543,063 ล้านบาท  โดยเป็นเงินสมทบสะสมจากนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล รวม 1,595,764 ล้านบาท คิดเป็น 62.75% และเงินผลประโยชน์สะสมที่ได้รับจากการลงทุน 947,299 ล้านบาท คิดเป็น 37.25% 

ส่วนผลการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ 30 มิถุนายน 2567 พบว่า มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,824,741 ล้านบาท คิดเป็น 71.75% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 718,322 ล้านบาท คิดเป็น 28.25% และยังกระจายการลงทุนในประเทศ 1,767,166 ล้านบาท คิดเป็น 69.49% และต่างประเทศ 775,897 ล้านบาท คิดเป็น 30.51% 

เปิดกรุเงินลงทุน\"ประกันสังคม\" 2.5 ล้านล้าน ผลตอบแทน 5ปีเฉลี่ย 2.72%

ส่วนของผลประโยชน์สะสมจากการลงทุนประกอบด้วย ผลประโยชน์จากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 33,289 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 20,910 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน  12,379 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปี ณสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 2.72% สูงกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ 0.32% 

ขณะที่กองทุนเงินทดแทนคือ กองทุนที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนให้กับลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างเกิดอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน โดยตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน 30 มิถุนายน 2567 มูลค่ารวม 80,237 ล้านบาท โดยเป็นเงินสมทบสะสมจากนายจ้าง 51,874 ล้านบาท คิดเป็น 64.65% และเงินผลประโยชน์สะสมที่ได้รับจากการลงทุน 28,363 ล้านบาท คิดเป็น 35.35%  

ผลการบริหารเงินลงทุนกองทุนเงินทดแทน ณ 30 มิถุนายน 2567 พบว่า มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 66,187 ล้านบาท คิดเป็น 82.49% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 14,050 ล้านบาท คิดเป็น 17.51% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนว่า ด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ตํ่ากว่า 60% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% 

โดยมีการกระจายการลงทุนในประเทศ 61,441 ล้านบาท คิดเป็น 76.57% และต่างประเทศ 18,796 ล้านบาท คิดเป็น 23.43%  ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงิน ทดแทน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การนำเงินกองทุนไปจัดหาผลประโยชน์ (ฉบับที่ 3) ที่กำหนดให้ลงทุนในต่างประเทศรวมกันไม่เกิน 25%ของเงินกองทุน

ขณะที่ส่วนของผลประโยชน์สะสมจากการลงทุน ณ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนเงินทดแทนมีผลประโยชน์จากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 1,193 ล้านบาท โดยเป็นดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 759 ล้านบาทและเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน จำนวน 434 ล้านบาท โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ณ 31 ธันวาคม 2566 เฉลี่ย 2.25% 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเด็นในเรื่องกองทุนของสำนักงานประกันสังคมที่มีปัญหาในเรื่องของงบนั้น ส่วนตัวมองว่า อาจเป็นในแง่ของการจ่ายค่าปรับความเสี่ยงส่วนเกินที่ตัวเลขออกมาสูงกว่าที่ประเมินเอาไว้

  นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ทำให้งบที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านั้นอาจมีไม่เพียงพอสำหรับการจ่าย ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่ายรายหัวลงแต่เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบเพียงงบปี 2567 ซึ่งจะสิ้นเดือนกันยายน 2567 เท่านั้น พอถึงเดือนตุลาคม 2567 ที่เป็นงบประมาณของปีใหม่ก็เชื่อว่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติและกลับมาจ่ายตามปกติได้อีกครั้ง 
อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอดูอีกว่าในปี 2568 การบริหารจัดการจะทำผลงานออกมาได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากว่าตัวเลขยังคงปรับตัวลดลงหรือยังตํ่าอยู่ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ในช่วงปลายปี 2568 จะเจอกับสถานการณ์เช่นนี้อีกครั้ง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,026 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2567