เล็งออกกฎหมายใหม่! จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างลาออก-ตาย

08 ก.ย. 2567 | 14:22 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 16:25 น.

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายแรงงานฉบับใหม่บังคับนายจ้างจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีออกงานหรือเสียชีวิต ตั้งเป้าเริ่มใช้ เม.ย. 68

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. .... ระหว่างวันที่ 5-21 กันยายน 2567

สาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. ....

1. กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

2.กิจการหรือนายจ้างที่ได้รับการยกเว้นให้ลูกจ้างไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงิน การตรวจสอบเงิน การคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ และระยะเวลาในการจ่ายเงิน เป็นต้น

3. กิจการหรือนายจ้างที่ได้รับการยกเว้นให้ลูกจ้างไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงิน การตรวจสอบเงิน การคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ และระยะเวลาในการจ่ายเงิน เป็นต้น

4. ให้นายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างเพื่อเป็นเงินสะสมและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบ ตามอัตราที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ทั้งนี้ การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนด

5. ให้นายจ้างมีหน้าที่นำเงินสะสมและเงินสมทบฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากเป็นชื่อของลูกจ้างแต่ละคน โดยมีเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ต่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น กรณีลูกจ้างสิ้นสภาพการจ้าง ให้นายจ้างออกหนังสือยืนยันการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้แก่ลูกจ้าง เพื่อนำไปแสดงต่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น

กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้บุคคลผู้พึงได้รับเงินสงเคราะห์โดยพินัยกรรมนำเอกสารสำเนาใบมรณะบัตรหรือหลักฐานที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแสดงต่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นสำหรับถอนเงิน หากลูกจ้างไม่ได้กำหนดบุคคลผู้พึงได้รับเงินสะสมและเงินสมทบไว้ ให้ตกแก่ทายาท

6. ให้นายจ้างแจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีการหักเงินสะสมครั้งแรก

7. ให้ลูกจ้างมีสิทธิตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับเงินสะสมและเงินสมทบ และให้นายจ้างมีหน้าที่จัดทำระบบสำหรับการตรวจสอบ หรือแสดงรายการตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับเงินสะสมและเงินสมทบให้ลูกจ้างทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างยื่นคำขอ

8. กรณีนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือลูกจ้างเกษียณอายุ หรือตกลงเลิกสัญญา แล้วแต่กรณี ให้นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้าง โดยให้นายจ้างคืนบัญชีเงินฝากที่ใช้สำหรับเก็บเงินสะสมและเงินสมทบ พร้อมทั้งออกหนังสือยืนยันการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้แก่ลูกจ้าง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างนำไปถอนเงิน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้เหตุผลการเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ว่า เนื่องจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย หรือในกรณีอื่นตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

โดยที่มาตรา 130 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างสำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมาตรา 130 วรรคสอง ยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่กิจการที่นายจ้างได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

นับกว่า 25 ปี ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ยังไม่มีการดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามบทบัญญัติว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างใน หมวด 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากขอบข่ายและวิธีการดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและสำนักงานประกันสังคมมีความคล้ายกัน

โดยสำนักงานประกันสังคมมีรูปแบบสวัสดิการ 7 กรณี ได้แก่ 1) กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2) ทุพพลภาพ 3) ตาย 4) คลอดบุตร 5) สงเคราะห์บุตร 6) ชราภาพ และ 7) ว่างงาน โดยในกรณีลูกจ้างตาย ชราภาพ และว่างงาน มีความคล้ายกับวัตถุประสงค์ของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่จะให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีออกจากงานหรือตาย

สำหรับวิธีการดำเนินงาน มีการเรียกเก็บเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างเช่นเดียวกัน ต่างกันเฉพาะกรณีเงินสมทบจากภาครัฐซึ่งเป็นวิธีการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น

นอกจากนี้ มีปัจจัยที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นับแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นและภาวะหนี้ครัวเรือนต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ. 2565 สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 86.5 ดังนั้น หากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจะเรียกเก็บเงินสะสมและเงินสมทบอีกทางหนึ่ง อาจเป็นภาระทางการเงินของลูกจ้างและนายจ้างเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. .... จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้เกิดผลทางกฎหมายต่อไป

ที่มา: ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง