ถอดแนวคิด “ก่อศักดิ์” CEO ซีพีออลล์ หมากล้อม กับภาวะผู้นำ-ความฉลาดทางอารมณ์

07 ก.ย. 2567 | 12:44 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2567 | 12:47 น.

PIM ถอดบทเรียนแนวคิดการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ด้วย “หมากล้อม” กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ซีพี ออลล์ กว่า 30 ปีในวงการ พร้อมถ่ายทอดสู่เจนเนอเรชั่นใหม่

อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรัตน์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถาบันฯจัดทำงานวิจัยหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้น

ถอดแนวคิด “ก่อศักดิ์” CEO ซีพีออลล์ หมากล้อม กับภาวะผู้นำ-ความฉลาดทางอารมณ์

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงอิทธิพลของหมากล้อมต่อการพัฒนาภาวะผู้นำเมื่อหมากล้อมถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำ การวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนล่วงหน้า และการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน

การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมากล้อมช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ทำให้ควบคุมอารมณ์ มีความอดทน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมและที่ทำงาน และยังมีประโยชน์ต่อการบริหารในการสร้างภาวะผู้นำเชิงบริหารภายใต้แนวคิด 4Q ได้แก่

IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญาเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ การเล่นหมากล้อมช่วยพัฒนาทักษะนี้โดยการฝึกให้คิดเชิงวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า

EQ (Emotional Quotient) หมากล้อมส่งเสริมการควบคุมอารมณ์และความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาวะผู้นำที่ดี ซึ่งการเล่นหมากล้อมเป็นวิธีการที่ดีในการฝึก EQ

ถอดแนวคิด “ก่อศักดิ์” CEO ซีพีออลล์ หมากล้อม กับภาวะผู้นำ-ความฉลาดทางอารมณ์

MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่หมากล้อมเน้นผ่านความเคารพต่อคู่ต่อสู้และการเล่นที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่มีคุณธรรม

AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากและอุปสรรค หมากล้อมช่วยเสริมสร้าง AQ โดยการฝึกให้ผู้เล่นรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันหมากล้อม หรือโกะ ได้รับความนิยมแพร่หลายกว่า 50 ประเทศ ทั้งทวีปออสเตรเลียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำกีฬาหมากล้อมหรือโกะ เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 30 ปีก่อนจนปัจจุบันมีผู้เล่นกีฬาหมากล้อมกว่า 2 ล้านคน

ซึ่งแนวคิดที่ได้จากการเล่นหมากล้อมนี้ ถูกนำไปใช้เป็นหลักการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนประสบความสำเร็จ และถูกถ่ายทอดไปยังทีมงานในส่วนอื่นๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป ทั้งเด็ก เยาวชน และคนทำงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งด้านภาวะผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ และการบริหารจัดการ”

อาจารย์ทิพวรรณ กล่าวอีกว่า หมากล้อมคือศาสตร์แห่งการบริหารและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมากล้อมสามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

ในขณะเดียวกันยังพัฒนาทักษะทางสังคมและการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การใช้หมากล้อมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์นี้ จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำทีมและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สิ่งสำคัญที่ได้จากการวิจัยพบว่า หมากล้อมยังสร้างสมดุล 3 ส่วน ได้แก่ “ชีวิตสมดุล” ซึ่งหมากล้อมสามารถนำมาใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน “คนสมดุล” การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเข้าใจและเคารพในมุมมองที่แตกต่าง และ “งานสมดุล” การวางแผนและจัดการในหมากล้อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสมดุล

“หมากล้อมถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการคิดเชิงกลยุทธ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ผู้เล่นคำนึงถึง“การมองภาพรวม” จากการวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว, การวางกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์, การคิดอย่างละเอียดและรอบคอบ สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว, การทำงานเป็นทีม

โดยเน้นการสร้างความร่วมมือและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร, การยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้พนักงานกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และไม่กลัวที่จะทำผิดพลาด, การควบคุมอารมณ์และความกดดัน การควบคุมอารมณ์และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย, การพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์ เป็นต้น”

อย่างไรก็ดีวันนี้ หมากล้อมกลายเป็นหนึ่งกิจกรรมที่เยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงานให้ความนิยมเล่น ฝึกฝน และร่วมแข่งขันกัน เพื่อฝึกทักษะทั้งด้านการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจมากขึ้นในอนาคต

 

หน้า 16 ฉบับที่ 4,025 วันที่ 8 - 11 กันยายน พ.ศ. 2567