ครม.คลอด 5 มาตรการปราบ “สินค้าผิดกฎหมาย” ลักลอบเข้าไทย

03 ก.ย. 2567 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2567 | 16:10 น.

ครม.เห็นชอบ 5 มาตรการป้องกันปราบปรามธุรกิจการขายสินค้าต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 63 แผนปฏิบัติการ ส่วนการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย ให้รอชงครม.ชุดใหม่

วันนี้ (3 กันยายน 2567) นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการป้องกันปราบปรามธุรกิจการขาย สินค้าผิดกฎหมาย จากต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว รวม 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย 63 แผนปฏิบัติการ ดังนี้

 

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

1. ให้หน่วยงานรัฐ บังคับใช้ระเบียบกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ด้วยการเพิ่มความถี่การเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และการเพิ่มความถี่การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายไทย 

2. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต  โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย เพื่อให้ภาครัฐ สามารถกำกับดูแล ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศ รวมถึงต้องเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด

3. มาตรการด้านภาษี กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายภาษี สำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) พร้อมจัดอบรมความรู้เชิงเทคนิคให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวน การใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรการภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลากและการอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 

4. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่านอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทย แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ 

5. สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่านอี-คอมเมิร์ซ ในต่างประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับอี-คอมเมิรซ์ในระดับภูมิภาค

นายศึกษิษฏ์ กล่าวว่า ทั้ง 5 มาตรการ ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล โดยทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ และรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ 

ส่วนการตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอนั้น ในการประชุมครม.ครั้งนี้ เห็นว่าให้เลื่อนการเสนอออกไปก่อน เพื่อรอครม.ชุดใหม่มาดำเนินการต่อไป