“ดีพร้อม” ผุดมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านทุนหมุนเวียนอุ้ม "SMEs" ถูกน้ำท่วม

30 ส.ค. 2567 | 15:22 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 15:22 น.

“ดีพร้อม” ผุดมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านทุนหมุนเวียนอุ้ม "SMEs" ถูกน้ำท่วม เดินหน้าให้สิทธิพักชำระหนี้ ลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษลูกกค้ารายใหม่ที่ถูกกระทบ

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการออกมาตรการให้สิทธิพักชำระหนี้ การลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ สำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม

เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และฟื้นฟูกิจการให้มีโอกาสฟื้นตัวในการประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจได้ต่อไป โดยกำหนดกรอบวงเงิน 20 ล้านบาทสำหรับการให้ความช่วยเหลือ ภายในกรอบระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเพื่อให้ความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 5 กรณี ประกอบด้วย 
 

  • ได้รับสิทธิขอกู้เงินเพิ่มเติม กรณีลูกหนี้เดิมที่ชำระหนี้เป็นปกติ โดยเมื่อรวมยอดหนี้คงเหลือแล้ว ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ไว้เดิม 
  • ได้รับสิทธิการขอกู้ใหม่ กรณีผู้ขอกู้รายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ต่อราย/กิจการ 

“ดีพร้อม” ผุดมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านทุนหมุนเวียนอุ้ม "SMEs" ถูกน้ำท่วม

  • ได้รับสิทธิการพักชำระหนี้ เป็นเวลาไม่เกิน 4 เดือน 
  • ได้รับสิทธิการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากวันลงนามเอกสารเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญากู้เงิน 
  • ได้รับสิทธิขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นลูกหนี้เดิมซึ่งอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระเงินกู้ และได้รับความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ไม่รวมถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษา
 

ส่วนผู้ขอกู้รายใหม่จะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย และได้รับความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยผู้ประกอบการที่เข้าข่ายนี้จะต้องมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

นายภาสกร กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวมาจากกสถานการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาได้เกิดมีมรสุมและฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย

ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 152 ตำบล 929 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวนกว่า 21,000 ครัวเรือน ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 

โดยส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือในส่วนของเครื่องจักร อุปกรณ์ในการผลิต วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อาคารและสิ่งปลูกสร้างถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก