นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบาย เรื่องการประสานงานกับ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu (เทมู) เพื่อแนะนำการเข้าร่วมจดทะเบียนระบบภาษี ว่า กรมสรรพากรได้ดำเนินการติดต่อไปยัง Temu แล้ว ด้วยการส่งอีเมล ซึ่งเป็นการแนะนำให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรง ที่ไม่มีผู้ประกอบการคนไทย เข้าไปเป็นสื่อกลางการใช้บริการ หรือเปิดร้าน ซื้อขายบนแพลตฟอร์ม
ฉะนั้น ทาง Temu จึงยังไม่เข้าข่ายผู้ต้องเสียภาษีในประเทศไทย ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มต่างชาติ หรือ VES : VAT for Electronic Service ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปใช้บริการ ทางแพลตฟอร์มจึงต้องจ่าย Vat เข้ามาที่สรรพากร
“สถานะของ Temu ยังไม่เข้าข่ายตามกฎหมายการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่า (Vat) เพิ่มในประเทศไทย ฉะนั้น กรมไม่สามารถบังคับให้บริษัทดังกล่าว เขามาจดทะเบียน Vat ตามกฎหมายของประเทศไทยได้”
ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาจาก Temu ก็จะมีการจัดเก็บ Vat 7% ตามการรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทจากผู้นำเข้า หรือลูกค้าทั่วไปตามปกติ ส่วนอนาคตถ้ามีนโยบายให้สรรพากร เข้าไปดำเนินงานเรื่องภาษีกับ Temu สรรพากรก็พร้อมประสานและดำเนินงานแน่นอน
สำหรับ Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดตัวในปี 2022 โดย PDD Holdings Inc. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในบอสตัน สหรัฐอเมริกา บริษัทนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในแอปช้อปปิ้งยอดนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเสนอสินค้าหลากหลายในราคาที่ต่ำมาก
โมเดลธุรกิจของ Temu เน้นสินค้าราคาถูกและการหมุนเวียนเร็ว เชื่อมโยงผู้บริโภคโดยตรงกับผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน โดยใช้แนวคิด Next-Gen Manufacturing (NGM) ในการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อจับคู่อุปสงค์และอุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จนถึงการจัดส่ง