"เศรษฐา-แพทองธาร" เคลียร์คิวดึง"ลิซ่า" โปรโมท ซอฟท์พาวเวอร์

05 ส.ค. 2567 | 08:00 น.

ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล - เศรษฐา-แพทองธาร เคลียร์ตารางงาน ก่อนนัดเจอในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ เตรียมขันนอตสิทธิประโยชน์ส่งเสริมถ่ายทำหนังต่างประเทศในไทย คืนเงินสูงสุด 30 % พ่วง เงื่อนไขจ้างงานประเทศ-ถ่ายทำเมืองรอง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีแผนที่จะพบกับ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการเคลียร์ตารางงานให้ลงตัวระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม “ลิซ่า” ได้มาถ่ายทำหนังซีรีส์ The white lotus season 3 ซึ่งมีโลเคชั่นในการถ่ายทำที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากมีซีรีส์เรื่อง The white lotus season 3 ซึ่งฉายบนสตรีมมิ่งของ HBO มาถ่ายทำที่เมืองไทยแล้ว ยังมีซีรีส์เรื่อง Alien ของค่าย FX และที่เตรียมจะเข้ามาถ่ายทำคือ Jurassic world ภาค 4 ที่เลือกโลเคชั่นที่ จ.กระบี่ จ.ตรัง 

แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลมีเตรียมที่จะปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์เพิ่มเติมจาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 7 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้าน Cash Rebate (อัตราการคืนเงิน) ซึ่งขยับเป็น 30% แบ่งเป็น สิทธิประโยชน์หลัก 20%+ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม10%  แต่ยังไม่มีการบังคับใช้จริง เนื่องจากสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ปัจจุบันยัง Cash Rebate อยู่ที่สิทธิประโยชน์หลัก 15%+ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม 5%

นอกจากนี้ อาจเพิ่มมาตรการการกำหนดด้านการจ้างงานประเทศ และการถ่ายทำเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ดังนี้ 

  • ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม 15-20 % เป็น 20-30 % (สิทธิประโยชน์หลัก 20 % เมื่อมีการลงทุนในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท / สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม รวมไม่เกิน 10 %) 
  • ปรับเพิ่มเพดานการคืนเงิน จากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยว ได้รายงานตัวเลขสถิติคณะถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนต์ในไทยและสร้างรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ดังนี้ 

  • ปี 2561 จำนวน 3,139.29 ล้านบาท 
  • ปี 2562 จำนวน 4,863.74 ล้านบาท
  • ปี 2562 จำนวน 1,747.68 ล้านบาท 
  • ปี 2564 จำนวน 5,007 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ถ่ายต่างประเทศในประเทศไทย ในปี 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีภาพยนตร์ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ จำนวน 43 เรื่อง สร้างรายได้ 8,560 ล้านบาท 

สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือ การคืนภาษี (Tex Rebate/Tex Credit) ของต่างประเทศ

  • สาธารณรัฐเฮเลนิค (กรีซ) Cash Rebate 40 % / ภาพยนตร์ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 1.11 แสนดอลลาร์สหรัฐ (3.88 ล้านบาท) ซีรีย์ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 2.7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (9.45 แสนบาท) ต่อตอน / งบประมาณต่อปี 82.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,884 ล้านบาท) 
  • มาเลเซีย Cash Rebate 30 % / Production และ Post Production ต้องใช้จ่ายมากกว่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (42 ล้านบาท) ถ้า Post อย่างเดียว ต้องใช้จ่ายมากกว่า 3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (12.35 ล้านบาท) / คืนเงินเพิ่ม 10 % สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 
  • สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ กรณีการถ่ายทำ Cash Rebate  25 % กรณี Post Production  Cash Rebate 20 % / กรณีถ่ายทำ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (35 ล้านบาท) กรณี Post ใช้จ่ายขั้นต่ำ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ (3.5 ล้านบาท) / จำกัดวงเงินต่อเรื่อง 3.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (119 ล้านบาท) 
  • สาธารณรัฐจอร์เจีย Cash Rebate 20 % / ภาพยนตร์ ซีรีย์ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 1.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ (65.7 ล้านบาท) สารคดี โฆษณา เรียลลิตี้ มิวสิควิดีโอ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 9.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (3.4 ล้านบาท) แอมิเมชัน ใช้จ่ายขั้นต่ำ 3.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (1.13 ล้านบาท) / ไม่จำกัดวงเงินคืน 
  • สาธารณรัฐโคลอมเบีย Cash Rebate 20-40 % Tax Credit 35 % / ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 4.75 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อเรื่อง (16.63 ล้านบาท) ซีรีส์ ใช้จ่ายขั้นต่ำ 118,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน (4.16 ล้านบาท) (ขั้นต่ำ 4 ตอน) Cash Rebate 40 % สำหรับบริการโสตทัศนูปกรณ์ (การแคสติ้งในพื้นที่ การจ้างทีมงาน ค่าเช่าอุปกรณ์และสถานที่) และ 20 % สำหรับบริการด้านโลจิสติกส์ (การขนส่ง การจัดเลี้ยง และที่พัก) / Cash Rebate งบประมาณต่อปี 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (70 ล้านบาท) และจำกัดวงเงินคืนต่อเรื่อง 5.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (19 ล้านบาท) Tax Credit ไม่จำกัดวงเงินคืนต่อเรื่อง 
  • สาธารณรัฐอินเดีย Cash Rebate 30 % /ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 2.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ (9.1 ล้านบาท) เพิ่มเติม 5 % ถ้าจ้างทีมงานชาวอินเดีย 15 % ขึ้นไป / จำกัดวงเงินต่อเรื่อง 2.44 แสนดอลลาร์สหรัฐ (8.54 ล้านบาท)
  • สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ Cash Rebate 20 % / ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1.53 แสนดอลลาร์สหรัฐ (5.35 ล้านบาท) / จำกัดวงเงินคืนต่อเรื่อง 1.91 แสนดอลลาร์สหรัฐ (6.68 ล้านบาท)
  • สาธารณรัฐเกาหลี Cash Rebate 20-25 % / ใช้จ่าย 4 หมื่น – 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ (1.4-22.57 ล้านบาท) สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม 5 % ถ้าถ่ายทำเกิน 10 วัน และใช้จ่ายมากกว่า 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ (22.57 ล้านบาท) / จำกัดวงเงินคืนต่อเรื่อง 1.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ (5.65 ล้านบาท) งบประมาณต่อปี 2.9 แสนดอลลาร์สหรัฐ (10 ล้านบาท) 
  • เครือรัฐออสเตรเลีย Tax Credit 30-40 % / ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 7.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ (25.9 ล้านบาท) 40 % สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ 30 % สำหรับ DVD และ online 30 % Post & Visual Effect ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 3.57 แสนดอลลาร์สหรัฐ (12.5 ล้านบาท)