ภูเก็ต ชิงเจ้าภาพประชุมดึงผู้นำไพรด์โลก ปักหมุดท่องเที่ยวยั่งยืน

25 ก.ค. 2567 | 12:44 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 16:02 น.

ภูเก็ต ปักหมุดเดสติเนชั่นจัดประชุมระดับโลก ชิงเจ้าภาพ Interpride World Conference 2025 ดึงผู้นำไพรด์ระดับโลก พร้อมผู้ติดตามนับหมื่นคนร่วมประชุม ทั้งคว้าเจ้าภาพงาน GSTC 2026 ปักหมุดท่องเที่ยวยั่งยืน รับสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกจาก 60 ประเทศร่วมประชุม

ปัจจุบันภูเก็ตไม่เพียงเป็นเดสติเนชั่นสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นปักหมุดให้เป็นเดสติเนชั่นสำหรับการจัดประชุมระดับโลก ซึ่งขณะนี้ ภูเก็ต ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ที่ไม่เพียงหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนในเวทีโลกแล้ว ล่าสุดภูเก็ตยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานที่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการประมูลงาน (บิดดิ้ง) งาน Interpride World Conference 2025 ซึ่งเป็นงานประชุมสำหรับผู้นำในกลุ่ม LGBTQ+ จากทั่วโลก เข้ามาจัดในไทย

โดยชนะ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น ที่เข้าร่วมเสนอตัวในครั้งนี้ด้วย และหลังจากนี้ภูเก็ต จะต้องไปเสนอตัวอีกครั้งในการช่วงชิงการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Interpride World Conference 2025 ที่ประเทศโคลอมเบีย ในเดือนตุลาคม ปี 2567 นี้ รวมถึงการสร้างให้เป็นเดสติเนชั่น ฟอร์ ออล สำหรับทุกคนที่เข้าภูเก็ต และเบิกทางเป็นสเต็ปต่อไปในการผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “World Pride 2030”

ภูเก็ตดึงงานประชุมระดับโลกเข้าพื้นที่

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภูเก็ตมุ่งที่จะดึงงานประชุมระดับโลก (World Conference) เข้าสู่พื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง โดยล่าสุดภูเก็ตได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อเสนอตัวการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Interpride World Conference 2025 ซึ่งก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการ Interpride World Conference ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชมภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่มาก่อนแล้ว และในการพรีเซ้นท์รอบสุดท้าย ภูเก็ตก็ได้รับการคัดเลือก

การที่ภูเก็ตได้รับการคัดเลือก น่าจะมีจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1. เรื่องของ Ease of Traveling ซึ่งมีความสะดวกในเรื่องของการเดินทางเข้าพื้นที่ จากจำนวนเที่ยวบินที่มีมากกว่า เฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ ก็มีประมาณ 60 ไฟล์ต จาก 10 เดสติเนชั่นจากทั่วโลก 2. ภูเก็ตเป็นเดสติเนชั่น ฟอร์ ออล ที่ยอมรับความหลากหลายมายาวนาน ตั้งแต่เรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ และภูเก็ตก็มีกลุ่มไพร์ด และมีกลุ่มที่มีโชว์และกิจกรรมด้านนี้โดยเฉพาะ อาทิ ภูเก็ตไซมอน คาบาเร่ต์ 3. เรื่องที่พักต่างๆที่มีความสะดวกหลากหลาย และความเป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยว จึงทำให้ภูเก็ตได้รับการคัดเลือกในนามของประเทศไทย เพื่อที่จะไปบิดงาน Interpride World Conference ในช่วงปลายปีนี้

ธเนศ ตันติพิริยะกิจ

การจัดงาน Interpride World Conference 2025 จะเป็นการจัดงาน 2 วัน โดยส่วนมากก็จะประชุมเกี่ยวกับ สิ่งที่เขาสนใจมากๆคือเรื่องของการยอมรับการมีอยู่ของเขา เรื่องของการมองเขาอย่างเท่าเทียม และอยากให้มองเขาแบบไม่แตกต่าง เลยเป็นที่มาที่บ้านเราก็มีการแก้กฏหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งงานนี้เป็นงานระดับโลก ในภาพรวมคาดว่าจะมีผู้มาร่วมประชุมสัมนาราว 3,000 คน แต่เมื่อรวมผู้ติดงาน ก็คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นคน สร้างรายได้หลักพันล้านบาท ซึ่งผู้เข้าร่วมงานก็ไม่ได้อยู่แค่ 2 วัน แต่จะอยู่ต่อเป็นสัปดาห์ และไม่ได้แค่เที่ยวต่อที่ภูเก็ตแต่ยังไปจังหวัดอื่นๆด้วย

นายธเนศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภูเก็ต ยังมีอีกงานได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพแล้ว คือ Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ที่จะเป็นงานใหญ่ที่จะทำให้ภูเก็ตจะสร้างให้เป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนในเวทีโลก โดยงานนี้จะมีผู้แทนจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คนจาก 50-60 ประเทศทั่วโลก แม้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจะไม่มาก แต่เป็นงานสำคัญ เพราะ GSTC เป็นผู้รับรองตราสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน อาทิ กรีนโฮเทล ซึ่งมีความสำคัญในการยอมรับของนักท่องเที่ยวตลาดยุโรป หรือนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ภูเก็ต ชิงเจ้าภาพประชุมดึงผู้นำไพรด์โลก ปักหมุดท่องเที่ยวยั่งยืน

อีกทั้งก่อนที่ภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน GSTC 2026 ภูเก็ตกำลังมุ่งพัฒนาให้เป็นจังหวัดแรกที่เป็นกรีนเดสติเนชั่นทั้งจังหวัด และครั้งแรกในไทย นอกเหนือจากเกาะหมาก ที่เป็นเกาะเล็กๆที่ได้รับกรีนเดสติเนชั่น เพื่อเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดขายของภูเก็ตมากว่า 40 ปี การเน้นเรื่องประหยัดพลังงาน และการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และการทำเรื่อง Zero Waste ซึ่งตอนนี้จะเริ่มจาก Zero Food Waste สำหรับอาหารในโรงแรมต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้คนในพื้นที่และลูกค้าให้หันมายอมรับเรื่องเหล่านี้ ก่อนจะไปทำเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตต่อไป ภูเก็ตตั้งเป้าหมายว่าภายใน 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่งจากปีหน้า เราควรต้องทำให้ภูเก็ตเป็นกรีนเดสติเนชั่นได้สำเร็จเป็นจังหวัดแรกในไทย

ภูเก็ตต้องการสร้างตลาดที่มีความหลากหลาย ทำให้ภูเก็ตเป็นเดสติเนชั่น ฟอร์ ออล รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่มทั้งกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มไพร์ด กลุ่มครอบครัว กลุ่มแอดเวนเจอร์ กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งภูเก็ตได้รับการเลือกจากยูเนสโก้ ให้เป็น Creative City Of Gastronomy ภูเก็ตก็จะเน้นการจัดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับจุดเด่นต่างๆเหล่านี้เพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวของภูเก็ตในปีนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ในแง่ของรายได้ถือว่าเกินกว่าก่อนเกิดโควิดไปแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีระยะพักที่นานขึ้น และจากข้อมูลของอาลีเพย์ พลัส ยังพบว่าคนจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ต ใช้จ่ายผ่านอาลีเพย์ พลัส เติบโตขึ้นถึง 4.5 เท่าจากปี 2562 และเกิดการกระจายตัวในการใช้จ่ายมากกว่าเดิม และกระจายการใช้โรงแรมในทุกกลุ่ม และลูกค้าสนใจกิจกรรมโลคัล เอ็กซ์พีเรียนซ์มากขึ้น

ปีนี้คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของภูเก็ตจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิดคืออยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับมาราว 70% จากโควิด ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราไม่อยากเน้นจำนวนนักท่องเที่ยวแต่อย่างเน้นไปที่คุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่า ซึ่งเราอยากเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน ถ้ารวมนักท่องเที่ยวไทย ก็อยากให้อยู่ที่ 12 ล้านคน คิดง่ายๆนักท่องเที่ยวมาภูเก็ต 8 ล้านคน เราทำกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวอยู่เกิน 1 คืน ก็ได้มาอีก 8 ล้าน รูมไนท์แล้ว นายธเนศ กล่าวทิ้งท้าย