ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

14 ก.ค. 2567 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2567 | 11:54 น.

“กทพ.” สรุปผลศึกษาสร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1 วงเงิน 4.9 หมื่นล้านบาท เชื่อมทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน หลังเปิดรับฟังความเห็นประชาชนรอบ 3 เตรียมชงครม.เคาะพร้อมเปิดประมูลภายในปี 68 ลุยตอกเสาเข็มเริ่มปี 69

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 ว่าการประชุมวันนี้เป็นการสรุปผลการศึกษาของโครงการ จากที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม

 

 ทั้งนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้นำเสนอ ผลการศึกษาด้านวิศวกรรมและการออกแบบเบื้องต้นของโครงการ ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

รวมทั้งมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย มีความเข้าใจ และมั่นใจต่อโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ตามแผนจะขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคาภายในปี 68

 

โดยจะเริ่มจัดหาแหล่งเงินทุนคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างและผู้รับจ้าง ก่อนขออนุมัติร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ภายในปี 68-69 หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 69-71 และก่อสร้างภายในปี 69-74 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 74

 

 “ตามที่มีประชาชนบางส่วนแสดงความกังวล และห่วงใยต่อดำเนินโครงการทางพิเศษสายนี้ และอยากให้ กทพ. พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกโครงการ ฯ นั้น กทพ. ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะยกเลิก โครงการนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน และต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคม รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 วงเงินลงทุน 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,619 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,069 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระบบทางพิเศษที่เป็นรูปแบบโครงสร้างอุโมงค์เป็นหลัก

นอกจากนี้โครงสร้างอุโมงค์เป็นโครงสร้างอุโมงค์แบบ Cut and Cover อยู่บริเวณทางเข้า-ออกอุโมงค์ของโครงการที่จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการมีลักษณะเป็นอุโมงค์ 2 ชั้น แบ่งเป็นชั้นฝั่งขาออกและชั้นฝั่งขาเข้า ชั้นละ 2 ช่องจราจร มีความกว้างรวม 15.9 เมตร โดยโครงสร้างอุโมงค์แบบ Tunnel Boring Machine หรือ TBM เป็นโครงสร้างของแนวสายทางหลักโดยจะมีลักษณะเป็นอุโมงค์ 2 ชั้น เช่นเดียวกับรูปแบบ Cut and Cover มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16.3 เมตร

ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

 โครงสร้างทางยกระดับของโครงการโครงสร้างทางยกระดับที่ต่อจากอุโมงค์ทางลอดใต้ดิน (Cut and Cover) ยกระดับขึ้นสู่ผิวดินที่ระยะประมาณ 800 เมตร จากแยกลาดปลาเค้าเชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ที่บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ โดยรูปแบบโครงสร้างทางยกระดับเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องแบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Precast Segmental Box Girder) ขนาด 2 ช่องจราจร ความลึก 2 เมตร และ ความกว้างรวม 11 เมตร รูปแบบเสาตอม่อมีทั้งเสาเดี่ยวและเสาคู่ (Portal Frame)

 

ส่วนอาคารระบบระบายอากาศของโครงการ มีระบบส่งอากาศดีเข้าไปในอุโมงค์และดูดอากาศเสียออกจากอุโมงค์ โดยทำงานร่วมกับระบบสกัดควัน เมื่อภายในอุโมงค์มีค่ามลพิษเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะดูดมลพิษเพื่อกรองอากาศในอาคารควบคุมระบบระบายอากาศ ก่อนปล่อยอากาศดีออกสู่ภายนอก

ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

ขณะเดียวกันโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน และสิ้นสุดที่ถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจร และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น รวมถึงช่วยลดระยะเวลาการเดินทางเชื่อมโยงจากฝั่งตะวันออก และตะวันตกได้ประมาณ 30 นาที

 

ด้านการเวนคืนที่ดินโครงการฯ จำนวน 342 แปลง ขนาดพื้นที่รวม 17 ไร่ 60.6 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 52 หลังมีผู้ได้รับผลกระทบ 102 ราย โดยจะมีการจ่ายค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความยุติธรรม รวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่รูปแบบทางเข้าออก - ออกระบบทางพิเศษ ที่จุดเริ่มต้นโครงการ (ทางพิเศษศรีรัช) ทางเข้าที่ 1 ฝั่งศรีรัชใต้จำนวน 1 ช่องจราจร เชื่อมจากถนนเลียบทางพิเศษศรีรัช และลดระดับลงจนไปเชื่อมกับอุโมงค์ของแนวสายทางหลัก และทางเข้าที่ 2 ฝั่งศรีรัชเหนือจากถนนงามวงศ์วาน 1 ช่องจราจร เชื่อมจากเชิงลาดของทางขึ้นสะพานข้ามถนนงามวงศ์วาน (มุ่งหน้าด่านประชาชื่น) และลดระดับลงจนไปเชื่อมกับอุโมงค์แนวสายทางหลัก 

ปักธงปี 68 ชงครม. ไฟเขียว สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N1

ส่วนทางออก ฝั่งศรีรัชใต้จำนวน 2 ช่องจราจร เริ่มต้นที่อุโมงค์แนวสายทางหลักบริเวณห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน เลี้ยวซ้ายพร้อมทั้งยกระดับขึ้นเชื่อมกับถนนทางเข้าทางพิเศษศรีรัช (มุ่งหน้าด่านประชาชื่น) โดยทางออกสามารถเชื่อมต่อไปยังทางพิเศษศรีรัชใต้ หรือกลับรถใต้ทางพิเศษศรีรัชเพื่อเข้าถนนงามวงศ์วานได้ 

 

รูปแบบทางเข้าออก - ออกระบบทางพิเศษ ที่จุดเริ่มสิ้นสุดโครงการ (ถนนประเสริฐมนูกิจ ช่วงแยกลาดปลาเค้า – แยกสุคนธสวัสดิ์)  โดยแนวเส้นทางบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการยกระดับจากอุโมงค์แบบ Cut and Cover ขึ้นมาสู่ระดับพื้นดิน (at-grade) บริเวณปั้ม ปตท. สาขาเกษตร-นวมินทร์ (ฝั่งขาออก) ในลักษณะ 2 ชั้นต่อ 1 ทิศทาง 

 

คือ ทิศทางมุ่งหน้าเข้าอุโมงค์จะอยู่ระดับพื้นดิน และทิศทางออกจากอุโมงค์ไปยังทางพิเศษฉลองรัชจะอยู่ระดับที่ 2 จากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามแยกเสนานิคมเป็นระดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ และเริ่มปรับระดับเป็นระดับเดียวกันทั้ง 2 ทิศทางบริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์แล้วเชื่อมต่อกับโครงการระบบทางพิเศษขั้นที่3 สายเหนือตอน N2

 

ทางออกจากระบบทางพิเศษ N1 จะเบี่ยงออกจากสายทางหลักของทางพิเศษ 1 ช่องจราจรช่วงทางลาดก่อนแนวเส้นทางจะเป็นระดับพื้นดิน บริเวณปั๊ม ปตท. สาขาเกษตร-นวมินทร์ (ฝั่งขาออก) เพื่อมุ่งหน้าไปแยกเสนานิคม และทางเข้า ทางเข้าระบบทางพิเศษขนาด 1 ช่องจราจร บริเวณซอยประเสริฐมนูกิจ 12 จากนั้นจะเข้าสู่ระบบทางพิเศษและลดระดับลงสู่ใต้ดินมุ่งหน้าไปทางพิเศษศรีรัช