เหล็กเวียดนาม เร่งบันได 3 ขั้น ดัน “กรีน สตีล” ตีตลาดโลก-ไทย

12 ก.ค. 2567 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 13:17 น.

เวียดนามเร่งบันได 3 ขั้น ดันสู่แชมป์เหล็กอาเซียน และอันดับต้นโลก ขณะปกป้องเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักประเทศ พร้อมดันส่งออกเพิ่ม ชู “กรีน สตีล”ตีตลาดโลก จับตาอนาคตส่งออกมาไทยเพิ่ม หลังปี 66 ไทยนำเข้าเหล็กเวียดนาม 6,165 ล้านบาท

อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากสินค้าเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเหล็กราคาตํ่าจากจีนที่ผลิตเกินความต้องการในประเทศ จากเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัญหาชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กไทยหลายรายทยอยปิดตัวจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ล่าสุดเวียดนามอีกหนึ่งผู้ประเทศผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญของอาเซียนกำลังเร่งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่อาจส่งผลกระทบเหล็กไทยในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมเหล็กระหว่างประเทศที่น่าจับตาเวลานี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในอนาคตคือ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้มีแรงผลักดันสำคัญจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล็ก เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเหล็กจากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและอันดับต้นของโลก โดยมีนโยบาย (บันได) 3 เรื่อง(ขั้น) คือ

ขั้นที่ 1 ผลิตและส่งออกเพิ่มรวดเร็ว โดยแรงส่งจากจีนและรัสเซีย (สมัยเวียดนาม-ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ) ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ตามด้วยแรงส่งจากนโยบาย Doi Moi (การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเน้นวางแผนส่วนกลางไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาดและเปิดประเทศมากขึ้น) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเหล็กของเวียดนามจาก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ปี 2556) เพิ่มเป็น 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2564) โดยส่งออกได้ 13 ล้านตัน มีอาเซียนเป็นตลาดหลัก กัมพูชาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย และเกาหลีใต้

เหล็กเวียดนาม เร่งบันได 3 ขั้น ดัน “กรีน สตีล” ตีตลาดโลก-ไทย

การส่งออกเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ปี 2560 เวียดนามผลิตเหล็ก 11.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) ปี 2565 ผลิต 19 ล้านตัน เป้าหมาย 66 ล้านตันในปี 2578 นโยบายส่งออกมีหลัก ๆ คือ 1.อัตราการขยายตัวในปี 2568 อยู่ที่ 80-85% และ 90% ในปี2593 2.ร่วมมือกับนานาชาติให้มากขึ้น 3.ส่งออกเหล็กคาร์บอนตํ่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ Hydrogen Energy Strategy 2030-2050 ทั้งนี้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก(GHG) ของประเทศ และหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) รวมถึงจากประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอน 4.กระจายตลาดส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นและรักษาฐานตลาดอาเซียน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

บันไดขั้นที่ 2 ปกป้องเหล็กในประเทศ แม้ว่าเวียดนามเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ แต่การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น มาจากการทำข้อตกลงการค้าหลาย ๆ ฉบับของเวียดนาม และบันไดขั้นที่ 3 From Gray Steel to Green Steel เหล็กเวียดนามปล่อย 7% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เวียดนามจึงตั้งเป้าผลิตเหล็กสีเขียว(กรีนสตีล)ให้ได้ปีละ 9.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดคาร์บอน ใช้ 2 วิธีสำคัญคือการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการดักเก็บและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

 “บันได 3 ขั้นของเวียดนาม ไทยจะได้รับผลกระทบ จากเหล็กราคาถูกเวียดนามจะเข้ามาในไทยมากขึ้น (ปี 2566 ไทยนำเข้าเหล็กเวียดนาม 6,165 ล้านบาท อยู่อันดับ 7 ของการนำเข้า) และแม้ว่าไทยจะปกป้องเหล็กภายในประเทศเหมือนที่เวียดนามกำลังทำ แต่เทียบกันแล้ว เวียดนามมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย และการปกป้องที่เข้มข้นกว่าไทย เพราะเวียดนามกำหนดเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่เหล็กไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมรองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นเท่านั้น”