KEY
POINTS
บวท.หรือ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 1 ในหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่ให้บริการรวบคุมจราจรทางอากาศและสื่อสารร่วมกับสายการบินในอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญด้านความปลอดภัยที่จะช่วยเพิ่มการขนส่งทางอากาศและลดต้นทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการสายการบินต่างๆ
ปัจจุบันพบว่าปริมาณการจราจรทางอากาศเริ่มหนาแน่น ส่งผลให้บวท.มีความจำเป็นต้องปรับเส้นทางการบินใหม่ เพื่อให้การจราจรทางอากาศมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น คาดว่าความจุปริมาณการจราจรทางอากาศจะไม่เพียงพอในอีก 3 ปีข้างหน้า
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า การเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือของสำนักงานสาขาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 2024 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค.นี้ ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จะมีการร่วมมือระหว่างบวท.ในไทย-จีน,บวท.ในสปป.ลาว และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
สำหรับแผนขยายเส้นทางการบินใหม่ พบว่าในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีปริมาณการจราจรทางอากาศอยู่ที่ 80,000 เที่ยวบินต่อปี ถือมีความล่าช้าที่ยังไม่สามารถรองรับปริมาณได้เต็มความจุอยู่ที่ 100,000 เที่ยวบินต่อปี
“หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บวท.มีความจำเป็นที่ต้องขยายเส้นทางการบินเพื่อสอดรับกับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเป็นการเพิ่มระบบเทคโนโลยี Air Traffic Flow Management ซึ่งเป็นระบบการบริหารความคล่องตัวทางอากาศ ที่จะช่วยลดปัญหาความล่าช้าและการจราจรติดขัดทางอากาศในการเชื่อมโยง ผ่านศูนย์กลางการบินระหว่าง 2 ประเทศ คือ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินเทียนฟู่”
นอกจากนี้บวท.จะนำเทคโนโลยี Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) ที่ช่วยลดระยะเวลาการขนถ่ายผู้โดยสารขึ้น-ลง ตลอดจนการโหลดกระเป๋าขึ้น-ลง จากเครื่องบิน เพื่อให้ตรงตามเวลาที่กำหนด โดยบวท.ระหว่าง 2 ประเทศจะมีการส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อให้ระบบกระเป๋าสายพานมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น
นายณพศิษฏ์ ระบุอีกว่า ขณะเดียว กันบวท.มีแผนใช้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมโดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการบินระหว่าง 2 ประเทศไทย-จีน ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยตัดสินใจแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น ถือเป็นระบบที่ทันสมัย
“ภายในสัปดาห์นี้จะมีการทดลองสาธิตการบินข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ ประกอยด้วย ไทย,จีน และสปป.ลาว ผ่าน 4 เส้นทางด้านภาคตะวันตกของสนามบินในประเทศจีน ดังนี้ เมืองกุ้ยหยาง,เมืองคุนหมิง,เมืองฉงชิ่ง และเมืองเฉิงตู ขณะที่เส้นทางของสนามบินในไทย ดังนี้ สนามบินดอนเมือง,สนามบินสุวรรณภูมิ,สนามบินภูเก็ต,สนามบินเชียงใหม่ ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอำนวยความสะดวกในการบินระหว่าง 2 ประเทศ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1 ปีหรือภายในปี 2568”
ขณะนี้ยังพบว่ามีเส้นทางการบินหลักระหว่างไทย-จีน ทั้ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางมาเก๊า-ฮ่องกง 2.เส้นทางไหหลำ-จีนภาคตะวันออก 3.เส้นทางสปป.ลาว-เวียดนาม-จีน 4.เส้นทางยูนนาน-จีนภาคตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศประมาณ 60% ของเที่ยวบินทั้งหมดระหว่างไทย-จีน โดยตั้งเป้ามีปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น 100,000 เที่ยวบิน รวมเป็น 200,000 เที่ยวบินต่อปี
ขณะเดียวกันยังพบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 (8 เดือน) ปริมาณเที่ยวบิน ไทย-จีน รวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 213% คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย - จีน รวม 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นทั้งปี 126%
ไม่เพียงเท่านั้นขณะนี้หลายสายการบินได้กลับมาให้บริการในเส้นทางบิน ไทย - จีน อีกทั้งมีการขอเพิ่มเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เฉิงตู ซึ่งประเทศไทยเตรียมขยายตลาดทางการบินรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
นอกจากนี้สนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไป-กลับ เฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมามีเที่ยวบินไป–กลับ เฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน คาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบิน ไป-กลับ เฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265%
หากบวท.สามารถดำเนินการระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ ตลอดจนการจัดเตรียมสถานที่สำหรับติดตั้งระบบใหม่ได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดว่าจะมีเที่ยวบินประมาณ 2 ล้านเที่ยวบิน ภายในปี 2581