สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนาหนิง ประเทศจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ออกประกาศเรื่อง “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากมาเลเซีย” ที่ลงนามระหว่างหน่วยงาน GACC และกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารของมาเลเซีย โดยระบุว่าจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ และให้ผ่านเข้าด่านที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้ของประเทศจีน ทั้งทางบก เรือ และอากาศ
ซึ่งก่อนหน้านี้ จีนอนุญาตให้มาเลเซียจัดส่งเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durian) และผลิตภัณฑ์แปรรูปเท่านั้น โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 1.19 พันล้านริงกิต (ประมาณ 9,200 ล้านบาท)
จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซียนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 98.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท) อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ 4 ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดของจีนต่อจากประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าทุเรียนสดมีปริมาณมากที่สุด โดยนำเข้าทุเรียนสดจากไทย ปริมาณ 928,948 ตัน มูลค่า 4,569 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 65.15% ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน การนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนาม มีปริมาณ 493,147 ตัน มูลค่า 2,138 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 34.59% ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศฟิลิปปินส์ มีปริมาณ 3,763 ตัน มูลค่าประมาณ 13 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.26% ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด
จากตัวเลขการนำเข้าแสดงให้เห็นว่า หลังจากประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ประเทศจีน ตลาดทุเรียนของจีนมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทุเรียนของเวียดนาม
ทั้งนี้ มาเลเซียได้คาดการณ์ว่าทุเรียนสดล็อตแรกที่จะส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนจะอยู่ในเดือนกันยายนของปี 2567 โดยขนส่งผ่านทางอากาศ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากมาเลเซียได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคจีนในการสั่งซื้อทุเรียนสดมากอีกช่องทาง ซึ่งจะเป็นคู่แข่งอีกรายที่เพิ่มขึ้นของทุเรียนไทยในตลาดจีน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนาหนิง ประเทศจีน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คู่แข่งที่มีศักยภาพของทุเรียนไทยในตลาดจีนจะเพิ่มเป็น 2 ราย จากเวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับทุเรียนเวียดนามมีความได้เปรียบในเรื่องการขนส่ง เนื่องจากระยะทางใกล้กว่า ทำให้ต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่า และคุณภาพของทุเรียนที่สดใหม่กว่า
ปัจจุบันทุเรียนเวียดนามอยู่ในช่วงเริ่มส่งเข้ามายังจีน และการส่งออกเข้าตลาดจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับทุเรียนไทยในตลาด แต่ทุเรียนไทยได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงมากกว่า โดยที่ทุเรียนไทยนั้นมีจุดแข็งที่รสชาติอร่อย เนื้อละเอียด หวานมัน มีคุณภาพมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและผ่านข้อบังคับ กฎระเบียบต่างๆ ของจีน
และที่ผ่านมานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีแผนการบริหารจัดการเรื่องทุเรียนตั้งแต่ต้นฤดูก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพ ป้องกันสารตกค้าง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างเข้มงวด
สำหรับทุเรียนมาเลเซียอาจต้องรอผลตอบรับจากผู้บริโภคชาวจีนหลังจากได้นำเข้าและมาจำหน่ายต่อไป ทั้งในเรื่องรสชาติและคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคทุเรียนปริมาณมหาศาล ผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพ และมาตรฐานของทุเรียนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดจีน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนและครองส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งต่อไป