คลังเก็บ Vat 7% สินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก 5 ก.ค.นี้ รีดรายได้ปีละ 2 พันล้าน

01 ก.ค. 2567 | 14:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2567 | 14:13 น.
855

คลังเก็บ Vat 7% สินค้านำเข้าตั้งแต่บาทแรก 5 ก.ค.นี้ รีดรายได้ปีละ 2 พันล้าน ระบุ “ศุลกากร” เก็บชั่วคราวถึงสิ้นปี 67 ไม่กระทบผู้บริโภค ฝั่ง “สรรพากร” ถกแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์สัปดาห์นี้ เพื่อเก็บภาษีโดยตรง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% กับสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาท หรือสินค้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก โดยให้กรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บให้ชั่วคราวจนถึงสิ้นปี 2567 ระหว่างที่รอกรมสรรพากรแก้ไขกฎหมายก่อน  

สำหรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ 

“ที่ผ่านมาสินค้าผลิตในไทยอาจจะต้องเสียภาษี Vat 7% แต่สินค้านำเข้าบางรายการกับได้รับการยกเว้นทำให้เกิดแต้มต่อทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ออกมา ซึ่งจะมีการเปิดตู้ตรวจ 100% รวมถึงการเก็บภาษีแบบออนไลน์เลย"

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กระบวนการจัดเก็บภาษี Vat กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จะไม่สร้างภาระให้กับประชาชนหรือผู้บริโภค เพราะวิธีการจัดเก็บภาษี กรมจะมีการเรียกจัดเก็บจากบริษัทขนส่งของเอกชน โดยไม่ได้ไปเรียกเก็บกับประชาชนที่สั่งซื้อของไป

ส่วนปริมาณสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท และมีการนำเข้ามาในไทย ในรอบ 8 เดือนขิงปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่านำเข้า 26,000 ล้านบาท คิดเป็น 89 ล้านชิ้น และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีสินค้ากลุ่มนี้นำเข้ามาได้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหากกรมจัดเก็บภาษีเต็มปีจะได้มีรายได้เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มนี้ที่นำเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางรถบรรทุกจากจีน เข้ามาด่านมุกดาหารมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นด่านนครพนม 

อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าที่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ส่วนนี้จะมีการออกใบสำหรับจ่ายภาษีเพิ่มเติม ซึ่งผู้ซื้อสามารถสแกนจ่ายภาษีกับบุรุษไปรษณีย์เพิ่มเติม และรับของไปได้เลย ซึ่งปกติจะมีปริมาณไม่มากอยู่แล้ว 

ส่วนสินค้าที่มีการจัดส่งผ่านขนส่งเอกชน ซึ่งเป็นสินค้าเกือบทั้งหมด ประชาชนไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะกรมศุลฯ จะเรียกเก็บจากผู้ขนส่ง ซึ่งผู้ขนส่งจะไปเรียกเก็บผู้ประกอบการต่ออีกที ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งห้ามฉวยโอกาสไปเรียกเก็บเงินภาษีกับประชาชนปลายทางที่รับสินค้าอย่างเด็ดขาด

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี และโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้กรมจะหารือกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหารือถึงรายละเอียดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท โดยหลักกการผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม จะเป็นผู้จัดเก็บและนำส่งภาษีมาให้โดยตรงกับกรมฯเลย 

ทั้งนี้ วิธีการมีลักษณะคล้ายกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับบริการ หรือ อีเซอร์วิส ที่กรมมีการออกกฏหมายจัดเก็บไปก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดอาจมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น สินค้าอาจมีการคืนของ จึงต้องมีการคุยลงรายละเอียดกัน

นอกจากนี้ กรมกำลังอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีนี้ เพื่อให้อำนาจสรรพากร สามารถจัดเก็บภาษีนี้ได้ถูกต้อง ซึ่งจะมีการเร่งทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการล่าช้า ก็อาจจะให้กรมศุลเป็นผู้จัดเก็บภาษีแทนไปพรางก่อนจนกว่า กฎหมายจะเสร็จ