ครม.เฉือนรายได้ 95 ล้าน ลดค่าธรรมเนียม ช่วยลูกหนี้ถูกฟ้องคดีแพ่ง-ล้มละลาย

25 มิ.ย. 2567 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2567 | 15:07 น.

ครม.เฉือนรายได้ 95 ล้านบาท ปรับลดค่าธรรมเนียม ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง และคดีล้มละลาย หลังจากกฎหมายฉบับเดิม มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปี

วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จำเป็น และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง และคดีล้มละลาย

สำหรับสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้

  • กำหนดค่าธรรมเนียมขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด 2% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน 3% ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย) 
  • กำหนดค่าธรรมเนียมจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ 1% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด (ปัจจุบัน 2% ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด) 
  • ยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย (ปัจจุบัน 2% ของราคาทรัพย์สินที่ยึด)

นายคารม กล่าวว่า เหตุผลของการดำเนินการครั้งนี้ เป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากอาจต้องตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และมีความรับผิดตามสัญญาหรือตามกฎหมายหลายประการ ส่งผลให้มีปริมาณการฟ้องร้องบังคับคดีเพิ่มมากขึ้นทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลาย กรณีเป็นปัญหาความเป็นธรรมของประชาชนที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นจึงสมควรต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาโดยเร่งด่วน เนื่องจากตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงเกินไป ทำให้ลูกหนี้ต้องรับภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมบางประการที่ไม่จำเป็น เช่น การยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินหรือการอายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย 

อีกทั้งในด้านกฎหมายยังไม่ปรากฏมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ดังกล่าว

นายคารม ระบุว่า การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพ.ร.บ.นี้ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว

โดยกรมบังคับคดีได้สำรวจข้อมูลจำนวนค่าธรรมเนียมประเภทต่าง ๆ ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 - 2567 (ข้อมูลถึงเดือนมกราคม 2567) พบว่าได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินทั้งสิ้น 6,842,907,178.19 บาท 

ทั้งนี้เมื่อคำนวณเฉพาะค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย และค่าธรรมเนียมยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ยกเลิก คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 95,461,667.64 บาท คิดเป็น 1.40% ของค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งหมด และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวสามารถช่วยสนับสนุนให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในการเจรจาชำระหนี้ โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะสามารถรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนไม่ให้ถูกขายทอดตลาดและสร้างความยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม