ผวา ประมูลข้าว 10 ปี ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว-เอื้อประโยชน์เอกชน

21 มิ.ย. 2567 | 18:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2567 | 16:13 น.
1.9 k

ประชุมคณะกรรมการเปิดซองประมูลข้าว วงแตก เลื่อนประชุมออกไปอีก 7 วัน หลังพบ เปิดโอกาส "ธนสรร ไรซ์" ยื่นซองเสนอราคาอีกครั้ง ผิดเงื่อนไข TOR ส่อผิดพ.ร.บ. ฮั้ว เอื้อประโยชน์เอกชน โทษจำคุก 5-20 ปี หรือตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 4 แสนบาท

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการการเปิดซองประมูลข้าว  เพื่อพิจารณาและประกาศผู้ที่ชนะการประมูลข้าว 10 ปี แต่ในประชุมพบว่ามีการเปิดโอกาสให้บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ยื่นซองเสนอราคาประมูลอีกครั้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของ TOR ทำให้คณะกรรรมการเปิดซองประมูลข้าว ซึ่งมีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ไม่เห็นด้วย

ที่ประชุมยังเห็นว่า นายกฤษณรักษ์ ใจดี รองผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะรักษาการแทนผู้อำนวยการคลังสินค้า ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดเนื่องจากยังดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการฯ ส่งผลให้คณะกรรมการในที่ประชุมมีมติเลื่อนพิจารณาออกไปอีก 7 วัน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการทักท้วงว่า ตามที่ อคส. ได้ประกาศ TOR เรื่องการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ในเงื่อนไข TOR ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทาง อคส. จะเปิดให้บริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ ทำการยื่นซองเสนอซื้อและเปิดซองเสนอซื้อในวันเดียวกัน  ซึ่งในวันดังกล่าวก็ได้บริษัทที่เสนอราคาสูงสุดคือ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ที่ยื่นซองเสนอเฉลี่ย 19 บาทต่อกิโลกรัมทั้ง 2 คลัง มูลค่ารวม 286 ล้านบาท

การที่เปิดให้บริษัทเอกชนรายอื่นเข้ามายื่นเสนอราคาเพิ่มย้อนหลังถือว่าไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของ TOR และเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กฎหมายว่าด้วยการฮั้ว) พ.ศ. 2542  

โดยหากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความผิดในมาตรา 10  คือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคา รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฎแจ้งชัดว่า การเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ มีบทลงโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท

มาตรา 11  เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขัน ในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใด ได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคาใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุก 5 ปี -20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท

และมาตรา 12 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม  เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-20 ปี  หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท