นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 36 (THAILAND SAFE@WORK#36) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีว่า กระทรวงแรงงานมุ่งส่งเสริมและสร้างหลักประกันให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในเชิงป้องกัน โดยตั้งเป้าหมายลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้ไม่เกิน 4% ต่อปี
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นการล้อมคอกก่อนวัวหายซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้าง รู้จ้าง ภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้ไม่เกิน 4% ต่อปี และจะพยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ 1% ต่อปีให้ได้
ด้านนายอำนวย ภู่ระหงษ์ รักษาการประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ สสปท. ได้วางแนวทางขับเคลื่อนการสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน
ด้วยค่านิยมหลักด้านความปลอดภัยร่วมกัน (Safety Shared Values) ซึ่งเป็นค่านิยม 3 ข้อ (M-D-C) ที่ต้องร่วมมือกัน คือ การมีสติรู้ตัว (Mindfulness) วินัยถูกต้อง (Discipline) เอื้ออาทรใส่ใจ (Caring) และการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับองค์กรต่าง ๆ โดยจะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถานประกอบกิจการ
นำค่านิยมนี้ไปปรับใช้เพื่อช่วยให้คนทำงานมีความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีเพราะความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญในชีวิตและการทำงานนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้น สุขภาพจิตคนทำงานที่ดีขึ้นและสุดท้ายแล้วประเทศชาติจะใช้งบประมาณเพื่อชดเชยความสูญเสียเหล่านี้ลดลง
"การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับแรงงานของเรา ให้มีความพร้อมด้านความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยการเรียนรู้จากการเข้าร่วมสัมมนา การชมนิทรรศการที่มาร่วมในงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 122 แห่ง ซึ่งคนทำงานทุกคน จะสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในสถานที่ทำงาน ใช้ในสังคมชีวิตประจำวัน ดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมให้มีความมั่นคงและปลอดภัย" นายอำนวยกล่าว
ในครั้งนี้ นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2567 ระดับแพลทินัมให้กับสถานประกอบกิจการ 56 แห่ง อาทิ ศูนย์กระจายสินค้า CPALL บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย โรงงานเกตเวย์ เป็นต้น
พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณโครงการพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปีงบประมาณ 2566 ระดับแพลทินัม ให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 23 แห่ง และมอบรางวัลกิจกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะบุคลากรและพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2567 อีก 6 รางวัล