นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน Kick Off วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนและการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ณ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตทุเรียน และโรงคัดบรรจุที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียนที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ของโรงคัดบรรจุในจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 694 ชิปเมนต์ ปริมาณ 11,844 ตัน มูลค่าการส่งออก 1,398 ล้านบาท
รวมทั้งการควบคุมคุณภาพสำหรับการส่งออก ผลผลิตต้องมาจากแปลง GAP มีการตรวจก่อนตัด (ตรวจ % น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียน) โรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP มีเกณฑ์การจัดประเภทโรงคัดบรรจุเป็นสีเขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนดตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. 2555 และ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน โรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 หากฝ่าฝืนกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการพักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบ GAP ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลผลิตทุเรียนทุกผลต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน มกษ.3-2556 มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ได้มีการกำชับให้นายตรวจพืช ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตามพิธีสารการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ไม่ให้มีศัตรูพืชกักกัน เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ติดไปกับผลทุเรียนส่งออกอย่างเด็ดขาด โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ตรวจก่อนปิดตู้ทุกครั้ง
ทั้งนี้จากข้อกังวลในเรื่องหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อาจจะติดไปกับผลผลิตทุเรียนที่ส่งออก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีข้อสั่งการให้กรมวิชาการเกษตร นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนที่ดี มาใช้ในการผลิตทุเรียนในพื้นที่เขตจังหวัดอุตรดิตถ์
รวมทั้งการกำกับ และควบคุมคุณภาพตั้งแต่แปลงผลิต โรงคัดบรรจุ จนถึงหน้าด่านตรวจพืช โดยทำงานบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ หน่วยงานระดับจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดการควบคุมกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในพื้นที่ปลูกทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียง
การรักษาคุณภาพของทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน หลง หลิน ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้มีคุณภาพ มีการจัดการสวนที่ดี การจัดการดิน น้ำ ต้องเหมาะสม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้บูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน หน่วยงานระดับจังหวัด ในการพัฒนาทิศทางการจัดการร่วมกัน ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
กิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นการตรวจติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ในแปลงปลูกพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นการ Kick off การคุมเข้มการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก ไม่ให้เกิดปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนติดไปกับผลผลิตทุเรียนทั้งในการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีน ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์