อินไซด์ คลัง-สำนักงบ ถกหาเงิน 1.22 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

23 พ.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2567 | 10:49 น.
894

อินไซด์ กระทรวงการคลัง ตั้งโต๊ะคุย สำนักงบประมาณ หาแหล่งเงินเตรียมพร้อมรองรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เตรียมออกกฎหมายตั้งงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท

หลังจากรัฐบาลพยายามหาช่องทางเตรียมความพร้อมของแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ล่าสุดหนึ่งในแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการมีความชัดเจนแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คาดว่าจะมีกรอบวงเงินประมาณ 122,000 ล้านบาท 

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการหารือกรอบวงเงิน งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อีกครั้ง ในคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งจะนัดประชุมกันในอีกไม่กี่วันนี้ เพื่อพิจารณารายละเอียด จากนั้นจึงนำกรอบการเงินการคลังระยะปานกลางที่ได้ทบทวนใหม่มาเสนอครม.อีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นี้ 

ก่อนจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ เพื่อเสนอครม.อีกครั้ง ก่อนเสนอรัฐสภาเป็นลำดับสุดท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว การเตรียมวงเงินรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโนบายรัฐบาล

สำหรับที่มาที่ไปของการตัดสินใจจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นั้น แหล่งข่าวระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้หารือร่วมกับ สำนักงบประมาณ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในปีงบประมาณนี้ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจในวงประชุมดังนี้

ในการหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาท และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 และสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณแล้วรวมทั้งสิ้น 3,457,941.24 ล้านบาท คิดเป็น 99.37% โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 1,749,963,43 ล้านบาท คิดเป็น 50.61% ของงบประมาณที่จัดสรร 

ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก ประกอบกับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของกรมบัญชีกลางที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างรายการปีเดียวและเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2567 และสำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ควรก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

 

ภาพประกอบข่าว การเตรียมวงเงินรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการปรับลดงบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณที่เบิกจ่ายไม่ทัน หรือหมดความจำเป็นให้แก่หน่วยรับงบประมาณอื่นจะทำได้ผ่านพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรไปแล้ว และอาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวต้องหยุดชะงักและชะลอตัวลง 

ทั้งนี้เนื่องจากก่อนการจัดทำพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยจะต้องชะลอการเบิกจ่าย การโอน หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรทุกกรณีจนกว่ากระบวนการพิจารณาการโอนงบประมาณจะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน 

ดังนั้น การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จึงเป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐาน เศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ

 

ภาพประกอบข่าว การเตรียมวงเงินรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล

 

สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.เพื่อมุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชา และภาคธุรกิจ โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

2.เพื่อจัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว และส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยและอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐ โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของระบบราชการ

3.การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสำคัญ คือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีอย่างครบถ้วน

ด้วยเหตุนี้ สำนักงบประมาณ จึงได้เสนอมาให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยเตรียมจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ต่อไป