“เผ่าภูมิ” สั่งแบงก์รัฐอุดช่องว่างการเงิน มอบสศค.ขยายฐานภาษี

15 พ.ค. 2567 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 15:41 น.

“เผ่าภูมิ” รมช.คลัง สั่งแบงก์รัฐอุดช่องว่างทางการเงิน ตอบสนองความต้องการประชาชน ระบุให้นโยบายการเงิน-การคลังประสานกัน พร้อมมอบสศค.ดูเกณฑ์แบงก์ไร้สาขา-ขยายฐานภาษี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังจากมอบนโยบายสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า ได้มอบนโยบายให้กับสศค. ดำเนินงาน โดยสั่งการลงรายละเอียดไปถึงแต่ละกองต่างๆ ซึ่งให้กองนโยบายการเงินที่ดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มอบนโยบายให้แบงก์รัฐอุดช่องว่างทางการเงิน ทำให้สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อยากทำ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ต้องสอดคล้องนโยบายทางการเงิน ที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังให้นโยบายโดยยืนบนหลักการของนโยบายทางการคลังว่ามีหลักคิดอย่างไร ที่จะทำงานร่วมกัน

“จุดต่างของคลัง และธปท. คือ การประเมินเศรษฐกิจที่ไม่ตรงกัน จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการคุยกันบ่อยๆ การคุยกันเชิงที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้มองทิศทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่า หากมองสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตรงกันจะมีนโยบายการเงินและการคลังที่เหยียบคันเร่ง และเหยียบเบรกได้พร้อมกันมากขึ้น”

ขณะที่ในเรื่องธนาคารไร้สาขา (Virtual bank) นั้น กระทรวงการคลังได้ออกประกาศการจัดตั้ง Virtual bank โดยไม่มีการกำหนดจำนวนราย แต่กำหนดเงื่อนไข ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขนั้นๆ ก็ควรพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาต โดยได้ยกตัวอย่างให้สศค. ยืนในหลักการ ไม่ควรมีการจำกัดจำนวนราย ควรดูเงื่อนไขว่าคนที่เข้ามาสมัครมีความพร้อม ตรงคุณสมบัติมากน้อยเพียงใด

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ยังได้มอบนโยบายกองนโยบายภาษี เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษี แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อัตราภาษี ฐานภาษี และการขยายเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งนำมาสู่รายได้การจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง และภาวะเศรษฐกิจยังทรงตัว จึงได้มอบนโยบายให้ความสำคัญกับการขยายฐานภาษี มากกว่าการเพิ่มอัตราภาษี

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจ ยังมีประชาชนอยู่นอกระบบ ซึ่งการดึงคนเข้าสู่ระบบมีกลไกเป็นอย่างมาก เช่น การมีอาชีพในระบบมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากใช้วิธีการขยายฐานภาษีด้วยอัตราจะมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง และด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เหมาะกับการสร้างอัตราภาษีเพิ่มด้วย

ส่วนในเรื่องการออมนั้น ปัจจุบันยังมีปัญหาผู้สูงอายุแก่แล้วยังจน ไม่มีเงินออม ซึ่งขณะนี้ใช้วิธีการออมภาคสมัครใจ แต่ไม่ได้รับความนิยม และหากใช้วิธีการออมภาคบังคับก็กระทบระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้น ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างพิจารณาการออมด้วยการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งเร็วๆ นี้จะแถลงรายละเอียดต่อไป เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

ด้านกองมหภาคนั้น ถือเป็นกองที่ให้ความสำคัญโมเดลประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยสศค.เป็นอันดับ 1 ในการประเมิน ซึ่งขอให้รวบรวมข้อมูลและดำเนินการเช่นนี้ต่อไป ส่วนในเรื่องการเงินของประชาชน ได้ให้ความสำคัญกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องมาตรการสินเชื่อเมืองรอง และมาตรการ IGNITE THAILAND ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นั้น จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งงบประมาณปี 2568 และเม็ดเงินจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ในช่วงปลายปี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจผงกหัวขึ้นในปลายปีนี้ และส่งผลไปยังต้นปี 68