ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลุยลงทุน 1.2 แสนล้าน

14 พ.ค. 2567 | 16:53 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 22:35 น.
6.2 k

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC กำไรเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 1 ปี 2567 ด้วยกลยุทธ์ขยายพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพ ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเติบโต เผยธุรกิจโรงแรมเติบโตก้าวกระโดด เพิ่มขึ้น 83 % เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด เดินหน้าลงทุน 1.2 แสนล้านบาทตามแผนขยายธุรกิจ

วันนี้ (วันที่ 14 พฤษภาคม 2567) นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2567 ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องด้วยผลกำไรจากการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดดตามกลยุทธ์การขยายพอร์ตโฟลิโอทรัพย์สินคุณภาพ โดยเฉพาะทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ของกลุ่มโรงแรมและการบริการที่เติบโตต่อเนื่อง ทำสถิติเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์แข็งแกร่งเหนือกว่าปี 2562

ด้วยผลกำไรจากการดำเนินงาน (HOTEL EBITDA) ตามผลประกอบการซึ่งไม่รวมมูลค่ายุติธรรมเติบโตอย่างแข็งแกร่งสูงสุดอยู่ที่ 1,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 43 % จากไตรมาสก่อนหน้า

วัลลภา ไตรโสรัส

จากการดำเนินงานที่โดดเด่นต่อเนื่องด้วยความสามารถในการสร้างรายได้เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) ที่เติบโตสู่ระดับสูงสุดที่ 6,298 บาทต่อคืน เช่นเดียวกับรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) เติบโตสู่ระดับสูงสุดที่ 4,711 บาท นอกจากนี้ยังมีการเติบโตของจำนวนการจองห้องพักล่วงหน้าที่ 753,841 คืน ในการเข้าพัก สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

AWC มีกำไรสุทธิรายไตรมาสเติบโตสู่ระดับสูงสุดที่ 1,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1 %  เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากรายได้รวม 5,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3 %  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และรวมกำไรจากการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจ (BU EBITDA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

AWC ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) และสร้างมูลค่าทรัพย์สินรวมเติบโตกว่า 80% เทียบกับก่อนโควิด-19 โดย

  • เสริมกลยุทธ์เพิ่มความแข็งแกร่งของ AWC เพื่อพัฒนาเป็น Retail Destination ให้กับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า 
  • การเปิดประสบการณ์ Co-LivingCollective: Empower Future ให้กับกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน
  • เพิ่มศักยภาพของทรัพย์สินในช่วงดำเนินงานเริ่มต้น (RAMP UP) มาสู่ระดับดำเนินงานปกติ (BAU) ด้วยการร่วมเพิ่มพลังกับพันธมิตรระดับโลกในการเข้าถึงฐานลูกค้าจาก 400 ล้านคน เป็น 600 ล้านคนทั่วโลก
  • สร้างมูลค่าทรัพย์สิน Freehold ถึง 94 % ที่ช่วยสร้างการเติบโตของกระแสเงินสดอย่างแข็งแกร่ง เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืนให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 149,550 ล้านบาท (ลบเพิ่มขึ้น 55.0 %) เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยคิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงาน 109,526 ล้านบาท

ผลประกอบการรายไตรมาสสูงสุดทำสถิติใหม่

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 AWC มีผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการที่โดดเด่น ซึ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ของกลุ่มให้เติบโตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 61 % จากภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ (High-to-Luxury) ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัทที่สนับสนุนการเติบโตให้กับทุกกลุ่มโรงแรมของ AWC

โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ทระดับลักชัวรี โรงแรมในกรุงเทพ และโรงแรมอื่นๆ นอกกรุงเทพ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) และรายได้เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) ได้อย่างโดดเด่นเติบโตสู่ระดับสูงสุด ซึ่งอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (Occupancy Rate) ในไตรมาสนี้เท่ากับ 74.8 % และมีอิบิทดาต่อรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ (HOTEL EBITDA MARGIN) เท่ากับร้อยละ 42.1 เพิ่มขึ้น 7.5 % จากไตรมาสก่อนหน้า และเติบโตกว่าปี 2562

จากความสามารถในการดำเนินงานอันโดดเด่น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ส่งผ่านออกมาเป็นอิบิทดา (Flow Through) ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการซึ่งมีสัดส่วน Flow Through เท่ากับ 86 %เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า  โดยโรงแรมที่มีดัชนีการสร้างรายได้ (Revenue Generation Index หรือ RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ มีค่า RGI เท่ากับ 194 โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 175 และโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ ที่มีค่า RGI เท่ากับ 146

ผลประกอบการ AWC ไตรมาส 1 ปี 2567

AWC มุ่งพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพย์สินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินดำเนินงานผ่านการเปิดห้องอาหารและคาเฟ่ชั้นนำระดับโลกในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อาทิ “หงส์ ไชนีส เรสเตอรองท์ แอนด์ สกาย บาร์” ห้องอาหารจีนบนชั้นดาดฟ้าแห่งแรกของเชียงใหม่ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล และ “คาเฟ เดอ เพทาย” คาเฟ่สไตล์ยุโรป ณ อาคารแอทธินี ทาวเวอร์

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Pikul” ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการโรงแรม ห้องอาหาร และบริการด้านไลฟ์สไตล์ในเครือ AWC และจากพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 AWC มีจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 22 โรงแรม รวมจำนวน 6,029 ห้อง และห้องอาหาร (Restaurant Outlet) อีกกว่า 80 แห่งที่ตั้งอยู่ในโรงแรมและจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย

สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ AWC ได้วางกลยุทธ์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละพื้นที่ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานยังคงสามารถรักษาระดับรายได้ของธุรกิจได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่องจากความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเกรดเอที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันตอบรับเทรนด์การทำงานแบบไฮบริด

นอกจากนี้ AWC ได้เตรียมเปิดโครงการ “Phenix” (ฟีนิกซ์) ศูนย์กลางด้านอาหารที่ประกอบด้วยฮับค้าส่งอาหารระดับโลก (World’s Food Wholesale Hub) ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านประตูน้ำ ใจกลางกรุงเทพฯ เชื่อมต่อทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ครั้งแรกของโลก ที่จะเปิดตัวในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นี้ ผ่านการผนึกกำลังกับหลากหลายพันธมิตรระดับโลก

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลุยลงทุน 1.2 แสนล้าน

รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมโครงการ EA ROOFTOP AT THE EMPIRE (เอ-ย่า รูฟทอป แอท ดิ เอ็มไพร์) ซึ่งประกอบไปด้วย EA GALLERY แหล่งรวมร้านอาหารนานาชาติชั้นนำมากมายท่ามกลางทัศนียภาพที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ EA CHEF'S TABLE แหล่งรวมร้านอาหารสร้างสรรค์โดยเชฟระดับมิชลินสตาร์จำนวน 3 แห่ง และห้องอาหาร Nobu Bangkok แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และยังเป็นห้องอาหาร Nobu ที่สูงและใหญ่ที่สุดในโลก ณ อาคาร “เอ็มไพร์” อาคารสำนักงานเกรดเอ ใจกลางย่านสาทร ที่มุ่งพัฒนากรุงเทพสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มบนรูฟทอปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) เสริมศักยภาพพอร์ตโฟลิโอในระยะยาว

AWC ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) โดยมุ่งเน้นการดำเนินกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ EBITDA ด้วยโมเดลธุรกิจอย่างเป็นเอกลักษณ์ ผ่านการผลักดันศักยภาพในการเติบโตของทรัพย์สินที่อยู่ในช่วงดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp Up) และทรัพย์สินที่อยู่ในช่วงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด (Repositioning) รวมมูลค่ากว่า 88,339 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ให้มาอยู่ในระดับทรัพย์สินดำเนินงานปกติ (BAU) เพิ่มมากขึ้น

การเร่งแปลงทรัพย์สินระหว่างพัฒนา (Developing  Asset) มูลค่ากว่า 40,024 ล้านบาท ให้เป็นทรัพย์สินดำเนินงาน (Operating  Asset) และการลงทุนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ด้วยงบประมาณการลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท โดยความสามารถในการจัดหาเงินทุน (Debt Capacity) ที่แข็งแกร่งและโมเดลลงทุนเพื่อการเติบโต (Growth Fund Model) เพื่อเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอคุณภาพและคุณค่าในระยะยาว

ในปี 2567 ทางบริษัทฯ มีแผนที่จะเดินหน้าพัฒนา “ลานนาทีค เดสทิเนชั่น” (Lannatique) โครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพเพื่อสร้างจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลกใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีการเข้าลงทุนในทรัพย์สินบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านช้างคลานเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรมภายใต้แบรนด์ระดับลักชัวรี และสร้างสวนน้ำในโรงแรมแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่

“AWC เชื่อมั่นในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นของไทยและศิลปะล้านนาที่พิเศษและทรงคุณค่ามาอย่างยาวนาน โดยล่าสุดได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติเข้าลงทุนในทรัพย์สินแปลงกลางเมืองบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของย่านช้างคลานในโครงการ “เชียงใหม่ ไนท์ บาร์ซา” โครงการ “กาแล ไนท์ บาร์ซา” และโครงการ “เดอะ พลาซ่า เชียงใหม่” ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ลานนาทีค เดสทิเนชั่น’ ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการเฟสแรกในปลายปี 2567 นี้

ต่อด้วยการเปิดโครงการเฟสต่างๆ ต่อเนื่องในช่วง 5 ปี เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่งเสริมการสร้างงานและเศรษฐกิจในพื้นที่ ด้วยงบลงทุนและพัฒนาที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้จังหวัดเชียงใหม่ รวมมูลค่ากว่า 11,950 ล้านบาท

ลานนาทีค เชียงใหม่

รวมถึงการเข้าลงทุนเพิ่มในโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพบนพื้นที่ระดับไพรม์โลเคชั่นในอีก 2 จุดหมายสำคัญของกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย โครงการโอพี การ์เด้น ย่านบางรัก เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการแฟลกชิป โรงแรม เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงคอก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเสริมจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวริมสายน้ำ คาดว่าจะเปิดดำเนินการประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2570 และโครงการโรงแรมในพื้นที่ถนนสุขุมวิท 38 เพื่อพัฒนาโครงการโรงแรมด้านเวลเนส คาดว่าจะเปิดดำเนินการประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2571 เพื่อสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนระดับโลก” นางวัลลภา กล่าวเสริม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 AWC ยังได้สร้างปรากฏการณ์ด้านความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่มาตรฐานโลกครั้งสำคัญ ด้วยความสำเร็จในการได้รับคะแนนด้านความยั่งยืนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ และยังติดอันดับ Top 1% (Gold Class) จากการประเมินและจัดอันดับของ S&P Global ที่ประกาศอย่างเป็นทางการใน The Sustainability Yearbook 2024

นอกจากนี้ AWC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการเงินชั้นนำในการจัดหาวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และสามารถเพิ่มสัดส่วนวงเงินดังกล่าวเป็น 100 % ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เปรียบเสมือนเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามพันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก