ราชกิจจาฯ ประกาศแนวทางตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย

08 พ.ค. 2567 | 16:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 16:24 น.

ราชกิจจานุเบกษาประกาศแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2567 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ค้าข้าว และการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ

วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักงานมาตรฐานสินค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดําเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. ๒๕๖๗

ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการจัดให้มีการตรวจสอบ มาตรฐานสินค้าและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ ข้อ ๗ วรรคสาม กําหนดให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งมอบตัวอย่างสินค้า ตามคําแนะนําของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ พนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ให้สํานักงานมาตรฐานสินค้า ดําเนินการเพื่อตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม นั้น

เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบัน และให้การตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สํานักงานมาตรฐานสินค้า จึงกําหนดแนวทางปฏิบัติในการดําเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทยไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศสํานักงานมาตรฐานสินค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดําเนินการ ตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐

                              ราชกิจจาฯ ประกาศแนวทางตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย

ข้อ ๒ ให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งมอบตัวอย่างสินค้าที่ดําเนินการตรวจสอบตามคําร้องขอ ให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (แบบ มส. ๑๓/๑) หรือเฉพาะรายการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าร้องขอเพื่อดําเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย

ข้อ ๓ ให้สํานักงานมาตรฐานสินค้า ส่งตัวอย่างที่ได้รับมอบให้หน่วยงานที่สํานักงาน มาตรฐานสินค้ามอบหมายทําการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย

ข้อ ๔ ให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ทําตราประทับสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้า ซึ่งได้สุ่มเก็บตัวอย่างไว้จนกว่าจะทราบผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย ว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยหรือเงื่อนไขที่กําหนด

ข้อ ๕ ให้ผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยรอผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมของสํานักงานมาตรฐานสินค้า ก่อนดําเนินการตามขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าโดยเร็ว

ข้อ ๖ ให้สํานักงานมาตรฐานสินค้า แจ้งผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ 

หากพบว่า สินค้ามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเงื่อนไขที่กําหนด สํานักงานมาตรฐานสินค้า จะสั่งระงับการส่งออก และให้ผู้จัดให้มีการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานนําสินค้าไปปรับปรุงคุณภาพ

ข้อ ๗ กรณีถูกสั่งระงับการส่งออก ผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามีสิทธิอุทธรณ์ ผลวิเคราะห์คุณภาพได้ โดยทําเป็นหนังสือยื่นต่อสํานักงานมาตรฐานสินค้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่ง

                                       ราชกิจจาฯ ประกาศแนวทางตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย

ข้อ ๘ กรณีมีการอุทธรณ์ให้นําตัวอย่างสินค้าตามข้อ ๓ ที่สํานักงานมาตรฐานสินค้า ผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ได้รับมอบ ตามข้อ ๑๑ ของกฎกระทรวงการขอรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า

และการกําหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า พ.ศ. ๒๕๖๔ ฝ่ายละ ๑ ตัวอย่าง มาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของตัวอย่าง ณ สํานักงานมาตรฐานสินค้า ก่อนนําตัวอย่างของทุกฝ่ายมาคลุกเคล้ารวมกันเป็นตัวอย่างเดียวกัน และส่งให้หน่วยงานที่สํานักงาน มาตรฐานสินค้ามอบหมาย ทําการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ ให้ถือผลวิเคราะห์ตัวอย่างชั้นอุทธรณ์เป็นที่สุด 

ให้ผู้ยื่นอุทธรณ์เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายค่าตรวจวิเคราะห์นั้น 

ข้อ ๙ หากผลการตรวจวิเคราะห์ตามข้อ ๘ ปรากฏว่าสินค้ามีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน สํานักงานมาตรฐานสินค้าจะดําเนินการยกเลิกการระงับการส่งออกโดยเร็ว หรือเงื่อนไขที่กําหนด ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องดําเนินการตามขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗

วรวิทย์ หมุนทอง

หัวหน้าสํานักงานมาตรฐานสินค้า

คลิกดูจากราชกิจจานุเบกษา