บิ๊กสภาอุตฯ ชี้แบงก์แข่งลดดอกเบี้ยลง 1 สลึง มีผลด้านจิตวิทยามากกว่าที่คิด

04 พ.ค. 2567 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2567 | 15:16 น.
616

จากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ขานรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการภาคเอกชนตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอ

วันที่ 23 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่ (กสิกรไทย,กรุงไทย, กรุงเทพ,ไทยพาณิชย์) หารือเพื่อขอให้ช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในอัตราสูง ล่าสุดมีธนาคารและสถาบันการเงินภาครัฐและเอกชนอย่างน้อย 7 ราย ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% เป็นเวลานาน 6 เดือน

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลดดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้วางแผนไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งว่าอยากจะทำใน 2 เรื่องคือ 1. การลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้สามารถไปต่อได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระด้านดอกเบี้ยลง  เรื่องที่ 2 คือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนและเพิ่มการจ้างงาน

บิ๊กสภาอุตฯ ชี้แบงก์แข่งลดดอกเบี้ยลง 1 สลึง มีผลด้านจิตวิทยามากกว่าที่คิด

ในส่วนของการลดต้นทุน ในเวลานี้ต้องยอมรับว่า ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นหลายด้าน โดยเรื่องที่เกิดจากเหตุการณ์ภายนอก  จากสถานการณ์โลก จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เช่น เรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก หากมีสงคราม มีความขัดแย้ง มีการรบกัน และมีการปิดช่องแคบหรือมีการขัดขวางเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

“ล่าสุดทั่วโลกยังกังวลเรื่องสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ที่ประจัญหน้ากันโดยตรงเป็นครั้งแรก มีการโจมตีซึ่งกันและกัน แต่ท้ายที่สุด ยังโชคดีว่า สถานการณ์ไม่บานปลาย เพราะดูเหมือนทั้งสองประเทศ รวมทั้งผู้สนับสนุนก็ไม่อยากจะให้เหตุการณ์บานปลาย เพราะฉะนั้นก็ออกมาดีกว่าที่คาด

แต่ยังเป็นช่วงแรก เพราะตอนแรกทุกคนก็กลัวว่าจะเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งถ้าเกิดมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ หรือว่ามีการปิดน่านฟ้าในบริเวณตะวันออกกลาง ก็จะส่งผลต่อราคาพลังงาน โดยราคาน้ำมันดิบคาดการณ์กันว่าอาจจะทะลุถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้บานปลายก็อยู่ที่ประมาณ 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล แต่เป็นสถานการณ์ที่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นอีก ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงานเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยง”

อีกต้นทุนหนึ่งคือเรื่องดอกเบี้ย สำหรับประชาชน หรือเอสเอ็มอีที่ต้องกู้เงินแบงก์และต้องจ่ายดอกเบี้ยถือเป็นหนึ่งในภาระหนัก ที่ผ่านมาหลายฝ่ายคาดอัตราดอกเบี้ยของโลกจะเป็นทิศทางขาลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาประกาศตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ในปี 2567 นี้จะเป็นปีที่สิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง

แต่ปรากฏถึง ณ ปัจจุบันสถานการณ์ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังมีความร้อนแรง และขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐถึงแม้จะลดลงมามากแล้ว แต่ยังสูงกว่าเงินเฟ้อที่ทางการสหรัฐ หรือทางธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ตั้งไว้ว่าอยากจะให้อยู่ที่ประมาณ 2% แต่ตอนนี้ยังอยู่ที่ระดับ 3%

เพราะฉะนั้นจึงทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าจะลดลง ก็ยังไม่ลดลง จากเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น และส่งผลให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากที่เฟดยังไม่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังลังเลที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี)

“รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีพยายามขอให้ทาง กนง. ช่วยพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายลง ที่ผ่านมาก็ลุ้นไปหลายรอบก็ยังไม่ได้ผล ท่านนายกฯ เองก็เลยตัดสินใจที่จะใช้วิธีใหม่ตามแบบฉบับของนักธุรกิจ โดยเรียกซีอีโอของแบงก์ขนาดใหญ่ 4 แบงก์ เข้ามาคุยและขอความร่วมมือในการช่วยลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยให้กับผู้เปราะบางและเอสเอ็มอี อย่างน้อยก็ลดซัก 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน”

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หลายคนบอกว่าดอกเบี้ยลดน้อยไปหรือไม่ จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรที่พอดี  แต่การลดอย่างนี้ก็ช่วยได้มาก คือ 1.ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลงได้จริง และ 2.ในทางจิตวิทยาก็ช่วยได้มาก อย่างน้อยทำให้คนมีความหวังมากขึ้นและช่วยเพิ่มกำลังใจ และยังส่งผลให้แบงก์ต่าง ๆ พร้อมใจกันช่วยลดดอกเบี้ยลงเพื่อแข่งขัน และจะส่งผลให้หนี้ในระบบลดลงด้วย จากผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนลดลง ช่วยเสริมสภาพคล่องการทำธุรกิจ ทำให้มีเงินมาใช้หนี้ธนาคารเพิ่มขึ้น

“การลดดอกเบี้ยลง  0.25% เป็นแค่มาตรการหนึ่ง แต่ต้องขอขอบคุณและชื่นชมนายกรัฐมนตรี และขอบคุณซีอีโอธนาคารพาณิชย์ ที่ได้เริ่มร่วมมือกัน ช่วยกัน เพราะเรื่องนี้ที่เกิดขึ้น หากได้รับความร่วมมือและขยายวงมากขึ้นก็ทำให้มีกำลังใจ ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีขนาดกลาง-ใหญ่หน่อย ที่เขาไปได้อยู่แล้ว ก็จะกระตุ้นให้อยากลงทุน แต่ถ้าเป็นเอสเอ็มอีที่มีขนาดย่อย มีภาระเงินกู้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ที่กำลังแย่อยู่ก็ช่วยต่อลมหายใจ ช่วยทำให้เขาเบาลง และมีโอกาสที่จะไปต่อได้ ทุกคนบอกว่าดอกเบี้ยลดลงแค่สลึงเดียว แต่สลึงเดียวถึงเท่าไหร่ก็แล้ว แต่ทางจิตวิทยาช่วยได้เยอะมาก”

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จะช่วยภาคการส่งออกของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถแลกเงินบาทต่อดอลลาร์ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มอำนาจการจับจ่ายในการท่องเที่ยวในไทยได้เพิ่มขึ้น  ซึ่งภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวจะยังเป็นตัวค้ำยันเศรษฐกิจที่สำคัญในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจ การค้าโลกยังน่าห่วงจากสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของโลก แม้อีกด้านหนึ่งจากเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ของไทยเพิ่มขึ้นก็ตาม

“เงินบาทที่อ่อนค่าลงเวลานี้ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุหลักมาจากเงินทุนไหลออก และจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งสอดคล้องกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาคนี้ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัญหาที่ผ่านมาของเราคือ ค่าเงินบาทของไทยมักแข็งค่า หรืออ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติหรือโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา

วันนี้เงินบาทเราอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับเงินเยนญี่ปุ่นก็อ่อนค่ามาก ซึ่งทางธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็เข้าไปแทรกแซงแล้ว จากตอนแรกไหลอ่อนลงถึง 160 เยนต่อดอลลาร์ แต่ตอนนี้เหลือ 150 กว่าเยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของไทยถามว่ามีโอกาสจะอ่อนลงไปถึง 40 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ ก็มีโอกาสหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปกำกับดูแลให้มีเสถียรภาพ” นายเกรียงไกร กล่าว