ลาคลอด 98 วัน ราชกิจจานุเบกษา ออกกฎกระทรวง ให้ลูกจ้างที่ทำงานบ้านมีสิทธิลา

02 พ.ค. 2567 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2567 | 13:25 น.
4.7 k

ลาคลอด 98 วัน ราชกิจจานุเบกษา ออกกฎกระทรวง มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 คุ้มครอง 11 เรื่องให้ลูกจ้างที่ทำงานบ้านมีสิทธิลาตามเงื่อนไข

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2567) ตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 เมษายน 2567 เพิ่มการคุ้มครองให้กับลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน 11 เรื่อง ได้แก่

  • มีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
  •  มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
  •  มีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็น
  •  ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำล่วงเวลา หรือวันหยุด
  •  ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ 98 วัน
  •  ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์
  •  ให้นายจ้างแจ้งการใช้แรงงานเด็ก
  • ลูกจ้างเด็กมีสิทธิฝึกอบรมโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน
  • ลูกจ้างหญิงได้รับค่าจ้างลาคลอด 45 วัน
  •  ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
  • ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

 

  “เรามุ่งผลักดันกฎหมายให้ออกมาตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ตรงจุดที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมในการพัฒนาชีวิตคุณภาพแรงงานนอกระบบในมิติต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้ดีขึ้นต่อไป” 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

 

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพมีหลักประกันสังคม มีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน ซึ่งการคุ้มครองตามกฎหมายยังไม่ครอบคลุมและยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จึงเร่งผลักดันกฎหมายให้ขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา.